ทำไมต้อง Circular Economy ทางรอดของมนุษย์ในยุค Anthropocene (ตอนที่ 1)

ข่าวสำคัญมากๆ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คือคำเตือนครั้งสุดท้ายของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก โดยสรุปก็คือ รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ชัดว่าถ้ามนุษย์จะรักษาโลกนี้เอาไว้ได้ ทุกฝ่ายทุกประเทศต้องลงมือปฏิวัติรูปแบบเศรษฐกิจ การผลิตและการบริโภคตั้งแต่เดี๋ยวนี้ และเรามีเวลาอีกไม่เกิน 12 ปีเท่านั้น ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง โดยเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล 

รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่า เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก และหากเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ นั่นหมายความว่า “เรา” ในความหมายของเผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังมุ่งหน้าสู่หายนะ และจะต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจนำไปสู่จุดจบของอารยธรรมในที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลักฐานสำคัญล่าสุดว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเรียกว่า Anthropocene หรือยุคมนุษย์ครองโลก หมายความว่ากิจกรรมของมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาและธรณีวิทยาในระดับสุดขั้ว ไม่ว่าจะการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในชั้นบรรยากาศอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ความเสื่อมโทรมอย่างหนักของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศตั้งแต่ยอดเขาไปจนถึงมหาสมุทร  รวมไปถึงวิกฤติขยะพลาสติกที่คุกคามความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในทะเลและกำลังย้อนกลับมาส่งผลต่อมนุษย์เอง

ท่ามกลางวิกฤตินานัปการ โดยเฉพาะการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหามลภาวะอันเนื่องมาจากขยะ แนวทางหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในระยะหลังว่าจะเป็นทางออกของมนุษย์ในการก้าวข้ามไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน

daniel-hjalmarsson
©Unsplash/Daniel Hjalmarsson

Circular Economy คือการออกแบบเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่เป็นวงจรไม่รู้จบ แทนการผลิต-ใช้-แล้วทิ้ง แบบเส้นตรง ตามรูปแบบอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมที่เน้นกำไรเป็นตัวตั้ง โดยใช้หลักว่ายิ่งผลิตออกมามากเท่าไหร่ก็ยิ่งสร้างกำไรมากเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วสินค้าเหล่านั้นจะไปถูกทิ้งอยู่ที่ไหนหรือสร้างผลกระทบอะไรบ้าง

หลายคนอาจเข้าใจว่า Circular Economy ก็คือระบบการผลิตที่มีการรีไซเคิลวัตถุดิบกลับมาผลิตซ้ำเท่านั้น แต่ความจริง Circular Economy เป็นแนวคิดแบบองค์รวมที่แทบจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมบริการ การประสานเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่างๆ จนคล้ายกับการทำงานของระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดการรักษาต้นทุนธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุดและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม

หัวใจสำคัญของ Circular Economy คือการกลับไปทำความเข้าใจการออกแบบและการทำงานของธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบหมุนเวียนที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดและไม่เคยมีของเหลือใช้เกิดขึ้นเลย เพราะมีกลไกในการนำทรัพยากร แร่ธาตุ พลังงาน หมุนเวียนกลับมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ ดังคำกล่าวที่ว่า สสารทุกอย่างไม่มีวันสูญหายไปจากโลก

หลักการผลิตและการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างครบวงจร ของ Circular Economy คือความหวังว่าเราจะสามารถปฏิวัติสังคมจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิม สามารถออกแบบโมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์แบบใหม่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

ลองมาทำความรู้จักที่มา ที่ไป และทำไม โลกจำเป็นต้องเปลี่ยนไปหา Circular Economy

ขีดจำกัดของการเติบโต

ตอนที่รายงาน “ขีดจำกัดของการเติบโต หรือ The Limit to Growth โดย The Club of Rome กลุ่มนักวิชาการนักคิดสายความยั่งยืนที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1972 โลกยังไม่รู้จักกับคำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รายงานฉบับสำคัญฉบับนั้นตั้งคำถามถึงความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนา โดยใช้โมเดลคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นของมหาวิทยาลัยเอ็มไอที ทำแบบจำลองหลายชุด โดยใช้ข้อมูลการเติบโตของประชากรหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อัตราการเกิด อัตราการตาย สถานภาพของทรัพยากรธรรมชาติ อัตราการบริโภค ผลผลิตอุตสาหกรรม ผลปรากฏว่า ข้อสรุปของแบบจำลองหลายชุดได้ผลตรงกันว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อเนื่องอย่างไร้การควบคุมจนเกิดขีดจำกัดของต้นทุนทางธรรมชาติ และโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะล่มสลายของภาคการผลิตและประชากรทั่วโลกระหว่างปี 2050-2070

ผลการศึกษารายงาน “ขีดจำกัดของการเติบโต” อายุ 45 ปี สอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) อย่างน่าทึ่ง แม้แต่ช่วงเวลาที่คาดว่าจะเกิดการล่มสลายของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมก็สอดคล้องกันคือเป็นช่วงหลังปี 2050 ข้อสรุปอีกอย่างที่ตรงกันก็คือ หากทุกประเทศเปลี่ยนแปลงการเติบโตเศรษฐกิจรูปแบบเดิมๆ ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสหลีกเลี่ยงหายนะได้มากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบเดิมโดยเร็วที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

stat

หากจะสรุปปัญหาสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ก็คือระบบการผลิตแบบเส้นตรงที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปโดยตรง เช่น ถ่านหิน น้ำมัน สินแร่ รวมทั้งที่ดินซึ่งล้วนเป็นปัจจัยจำกัด หมายความว่า เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ เศรษฐกิจยิ่งโต ก็ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในขณะที่ปัญหามลภาวะ มลพิษ ของเสียก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว

การเติบโตแบบนี้นำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรแบบไร้การควบคุม ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ จนเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพขนานใหญ่ และการเพิ่มขึ้นอย่างผิดธรรมชาติของก๊าซเรือนกระจกอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน  ที่ผ่านมาอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสินแร่จึงพุ่งสูงควบคู่ไปกับการเติบโตของจีดีพีประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยิ่งเศรษฐกิจโตเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอัตราเร่งในการใช้ทรัพยากรรวดเร็วแบบทวีคูณ

stat2

ยกตัวอย่างอินเดียซึ่งมีการเติบโตของเศรษฐกิจสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาอินเดียมีประชากรเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 เท่า แต่มีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า ความต้องการใช้แร่ 11 เท่า เชื้อเพลิงฟอสซิล 8 เท่า ชีวมวล 2.4 เท่า หรือรวมแล้วมีการใช้ทรัพยากรรายปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8 เท่า มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 13 เท่า ด้วยเศรษฐกิจแบบเดิม เราจะเห็นอัตราการใช้ทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จนเข้าใกล้ “ขีดจำกัด” ของโลกเข้าไปทุกขณะ

ความสามารถในการถลุงใช้ทรัพยากรแบบไร้ขอบเขตของมนุษย์ สวนทางกับความจริงที่ว่าทรัพยากรของโลกมีอยู่จำกัด แม้เราจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้าไปขนาดไหน แต่สุดท้ายความมั่นคงทางอาหาร สภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัยและความอยู่รอดในระยะยาวของมนุษย์ ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาสมดุลของระบบนิเวศ หากเราไม่สามารถฟื้นฟูธรรมชาติและลงมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โอกาสที่นิเวศบริการต่างๆ จะพังทลาย สภาพเศรษฐกิจสังคมล่มสลายก็ดูจะไม่ไกลเกินจริง

 

อ่านต่อตอนที่ 2

ที่มา: นิตยสาร “คิด” Creative Thailand ฉบับปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (เดือนพฤศจิกายน 2561)

ผู้เขียน: เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งทั้ง IUCN, WWF และ WCS ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับเป็นนักเขียนและนักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อมและทางออกด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบันขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะทะเลและการอนุรักษ์ปะการังกับ ReReef บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วยพลังผู้บริโภค

About The Author