udon

พลังงานจากเส้นอุด้ง

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่นซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมากมายที่มาช่วยแก้ปัญหายากๆ มากมายให้กับมนุษย์จนมีชีวิตแสนสะดวกสบายทุกวันนี้ กลับเป็นปัญหาง่ายๆ คือ “การทิ้งอาหาร” ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO ระบุว่า แต่ละปีแดนปลาดิบมีอาหารเหลือทิ้งถึง 20 ล้านตันต่อวัน!!  และเพียงแค่โตเกียวเมืองเดียวก็มีขยะเหลือทิ้งถึง 6,000 ตันต่อวัน

ไม่น่าเชื่อว่า วิกฤตนี้กลับถูกแก้ไขได้ด้วยวิธีที่เจริญและสร้างสรรค์ ที่เมืองทาคามัตซึในจังหวัดคากาวะนี่เอง เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นที่ผลิตเส้นอุด้งได้อร่อยและมีคุณภาพชั้นเลิศของญี่ปุ่น ทุกเที่ยงวัน ร้านอุด้งที่มีอยู่ทั่วเมืองร่วม 800 ร้านจะเนืองแน่นไปด้วยพนักงาน นักเรียน นักศึกษามายืนรออุดหนุน ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ บริษัท Chiyoda Manufacturing ที่ตั้งอยู่ในเมืองทาคามัตซึได้คิดนำเส้นอุด้งเหลือทิ้งจำนวนมากนี้มาใช้ในการผลิตพลังงาน เพราะมีเส้นอุด้งเหลือทิ้งมากถึงปีละ 150 ตัน ด้วยวิธีขอความร่วมมือจากโรงงานผลิตเส้นอุด้งและร้านอุด้งรวบรวมเส้นที่เหลือทิ้งมาผ่านกระบวนการ ซึ่งร้อยละ 10 จะได้เป็นเอทานอล ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90  จะผลิตเป็นก๊าซชีวภาพต่างๆ เช่น มีเทน เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 180,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี จากระบบการผลิตมีเทนจากเส้นอุด้งซึ่งเป็นพลังงานที่เพียงพอสำหรับ 50 ครัวเรือนโดยประมาณ

ถ้าคุณสงสัยว่า เส้นอุด้งถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างไรนั้น ความมหัศจรรย์นี้เกิดขึ้นเมื่อเรานำเศษเหลือของเส้นอุด้งไปอัดแน่นในแทงก์น้ำขนาดใหญ่ที่สูงและกว้างถึง 8 เมตร เส้นอุด้งจะถูกดองอยู่ในแทงก์นี้จนเกิดก๊าซมีเทน ซึ่งก๊าซมีเทนที่สามารถเก็บได้จากการดองเส้นเหล่านี้ จะถูกนำไปใช้กับกังหันพลังงานสำหรับผลิตไฟฟ้าต่อไป จากการคิดค้นแหล่งพลังงานชนิดนี้ ทำให้ Chiyoda ไม่เพียงแค่ตอบโจทย์ความต้องการพลังงานทดแทนชนิดใหม่ แต่ยังตอบโจทย์เรื่องการลดปริมาณของเสียลงอีกด้วย

นอกเหนือจากการตอบโจทย์แนวโน้มของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ในปัจจุบัน

อ้างอิง:

Udon Electricity: Could Japanese Noodles Become the World’s Future Energy Source?

นิตยสาร “สายใจไฟฟ้า” / การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

About The Author