สำรวจพฤติกรรมการใช้ขวดพลาสติกของคนไทย

ปัจจุบัน กฎหมายในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้ตื่นตัวถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการผลิตและใช้ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในไทยกันมากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปัจจุบัน ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”

ประกาศความร่วมมือเร่งผลักดันให้มีการพิจารณาแก้กฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำขวดบรรจุเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ได้ในประเทศไทย

rPET Research MOU Signing_Photo

กรุงเทพฯ, กรกฎาคม 2562 – สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย โดยการสนับสนุนจาก กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกับ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส ประกาศความร่วมมือเร่งผลักดันให้มีการพิจารณาแก้กฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำขวดบรรจุเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ได้ในประเทศไทย โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสำรวจพฤติกรรมการใช้ขวดเครื่องดื่มพลาสติกของผู้บริโภคชาวไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการนำขวดเครื่องดื่มไปใช้หลังการบริโภคที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแล เก็บรวบรวม การผลิตและใช้ขวด rPET อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยที่ผู้บริโภคยังสามารถมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ขวด rPET ได้

รศ. ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ที่ปรึกษา ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย (TRAC) และที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก โดยสถานการณ์ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยเฉพาะขวดเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติก PET นั้น มีสมบัติที่ดีหลายประการ ทั้งทนทาน น้ำหนักเบา และราคาถูก เราจึงพบว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งมักนำขวด PET เหล่านี้กลับมาใช้ซ้ำหลังการบริโภคเครื่องดื่ม ซึ่งบางครั้งก็นำไปใส่น้ำยาทำความสะอาดหรือสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตราย อันอาจทำให้เกิดความกังวลในการนำขวดดังกล่าวมารีไซเคิลได้ ดังนั้นการจะอนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลในไทย จึงต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยการศึกษาข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้ทราบข้อมูลว่าความเสี่ยงในการปนเปื้อนมีมากน้อยเท่าใดและมีสารชนิดใดที่จำเป็นต้องมีการตรวจประเมินบ้าง โดยทีมวิจัยของสถาบันฯ นำโดย ผศ.ดร. ชนิพรรณ บุตรยี่ จะเข้ามาดำเนินการศึกษาในเรื่องนี้ ตลอดจนประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก rPET สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากประเทศชั้นนำที่ใช้พลาสติกรีไซเคิลอย่างแพร่หลาย หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณา เพื่อพัฒนาเป็นแนวทางการประเมินความปลอดภัยของเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET เพื่อนำมาผลิตเป็นขวดเครื่องดื่มใหม่ในไทยต่อไป”

นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายก และ ประธานกรรมการบริหาร ของ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า “ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จำเป็นต้องใช้ขวดพลาสติกที่ผลิตใหม่ทั้งหมด เนื่องจากกฎหมายห้ามไม่ให้นำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่กับบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร ซึ่งข้อห้ามนี้ครอบคลุมถึงพลาสติกที่ผ่านการกระบวนการรีไซเคิลอย่าง rPET แล้ว อันทำให้สมาชิกของเราไม่สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ในส่วนนี้ลงได้”

มร. ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวเสริมว่า “ในฐานะผู้ผลิตพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดของโลก อินโดรามา เวนเจอร์ส ตระหนักดีถึงบทบาทในการส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนและปลอดภัย เราสนับสนุนความร่วมมือครั้งนี้ เพราะเราเชื่อมั่นเช่นกันว่าบรรจุภัณฑ์ PET มีส่วนสำคัญในการทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มถึงมือผู้บริโภคได้อย่างสะดวกและปลอดภัย  ด้วยคุณสมบัตินี้เองจึงทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้อย่างกว้างขวาง และการใช้บรรจุภัณฑ์จาก rPET จะมีส่วนช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการต้องพึ่งพิงพลาสติกที่ผลิตใหม่แต่เพียงอย่างเดียว ในฐานะผู้ส่งออกrPET  เราสามารถยืนยันได้ว่าเทคโนโลยีในการทำความสะอาดและกำจัดสิ่งสกปรกในกระบวนการรีไซเคิลในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก ได้มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และหลายประเทศมีการใช้บรรจุภัณฑ์ผลิตจาก rPET อย่างปลอดภัยมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หลายประเทศในสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ฉะนั้น ประเทศไทยเองก็น่าจะได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเห็นด้วยว่าการพิจารณาแก้กฎหมายจะต้องดำเนินงานตามหลักวิชาการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะเกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง”

About The Author