‘Edge of Automation’ อุตสาหกรรมไทยในยุคอัตโนมัติ

Automation Expo 2019 งานแสดงเทคโนโลยีและโซลูชันระบบอัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกครั้งที่ 2 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม พ.ศ. 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา จ.ชลบุรี โดยบริษัทกรีนเวิร์ล พับลิเคชั่น จำกัดเป็นผู้จัดงาน

Press
คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ในการแถลงข่าวการจัดงานเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้รับเกียรติจากคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมเข้าร่วมในการแถลงข่าวและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Edge of Automation อุตสาหกรรมไทยในยุคอัตโนมัติ” ซึ่ง Toolmakers ได้นำมาเรียบเรียงเพื่อให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของระบบอัตโนมัติที่มีต่ออุตสาหกรรมไทย

การก้าวสู่ยุคเครื่องจักรอัจฉริยะที่สามารถสื่อสารกันเองได้ (M2M) และการตรวจจับข้อมูลที่ครบถ้วนกำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการในการทำงานของอุตสาหกรรมยุคใหม่ซึ่งใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อสร้าง LEAN ผ่านการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาความสูญเสีย การปรับเปลี่ยนดังกล่าวสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งระบบ ในอีกกรณีหนึ่ง คือ การติดตั้งชิ้นส่วนสำหรับการจัดเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นให้กับเครื่องจักรดั้งเดิม เพื่อทำให้เกิดการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมของ Industry 4.0 สำหรับตลาดระบบอัตโนมัติในโรงงานคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2025 ซึ่งในปี 2017 มีมูลค่า 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราเติบ CAGR ตั้งแต่ปี 2018 – 2025 คิดเป็น 8.8%

Background

วันนี้ประเทศไทยและโลกได้เปลี่ยนไป จะเห็นได้ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Digital disruption เมื่อมาถึงทุกๆ ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบมากมาย นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนนโยบายของประเทศด้วยการชูโรงในช่วงแรกก็คือเรื่องของ Thailand 4.0 หากสรุปให้สั้น เข้าใจง่ายก็คือ “ทำน้อยได้มาก” ซึ่งเราจะเปลี่ยนจากไทยแลนด์ 3.0 เมื่อก่อนคือ ทำมากได้น้อย คำถามคือทำน้อยได้มาก หมายความว่าอย่างไร ต้องยอมรับว่าตอนนี้ประเทศไทยเรามีปัญหาใหญ่ๆ สำคัญๆ อยู่ในขณะนี้สองสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่งก็คือ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่อยู่ในรายได้ปานกลาง เพียงแต่ว่าเราอยู่ตำแหน่งนี้มาเป็นเวลานานมากว่า 20 ปีแล้ว จากการประเมินขององค์กรทางการเงินระดับโลกต่างๆ ประเทศของเราในอดีตเราอยู่ในกลุ่มประเทศยากจน ต่อมามาภายหลังช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถพัฒนาตัวเองด้วยอุตสาหกรรมที่มาจากนักลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในสมัยที่เรามี BOI ที่ค่อนข้างจะเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนจากต่างชาติ จากนั้นเราก็ผันตัวจากประเทศที่เป็นเกษตรกรรมขึ้นมาเป็นประเทศที่เป็นอุตสาหกรรม พัฒนาจากอุตสาหกรรมเบามาเป็นอุตสาหกรรมหนักขึ้น แล้วท้ายสุดก็กำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมในยุคที่เรียกว่า อุตสาหกรรม 4.0 นำประเทศไทยเข้าไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จะต้องดำเนินการด้วยนวัตกรรม เพราะฉะนั้นไทยแลนด์ 4.0 สรุปโดยย่อก็คือ เป็นสังคมหรือเป็นว่าเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

Problem

อย่างไรก็ตาม สังคมหรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่ายเพราะปัญหาหลัก  3 ข้อคือ

1.ปัญหาด้านแรงงานและการไม่มีนวัตกรรมเป็นของตนเอง

ทุกวันนี้โดยเฉลี่ยเรามีรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีประมาณ 6,000 เหรียญสหรัฐ ถ้าหากเราจะหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงคือที่ประมาณ 12,500 เหรียญ เรายังอยู่ที่ครึ่งทาง และด้วยโมเดลที่เราเติบโตอยู่ทุกวันนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยอุตสาหกรรมที่เรามีอยู่ ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกถึงประมาณเกือบ 70% อีกส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว จะเห็นว่าที่เรามี GDP ที่ดีเกิดขึ้นจากการค้าขายกับต่างประเทศทั้งสิ้น ถ้ายุคใดเศรษฐกิจของโลกดี เราก็ค้าขายดี การส่งออกดีจีดีพีเราก็โต แต่ว่าอุตสาหกรรมที่อยู่ในประเทศไทยในช่วงที่เป็นไทยแลนด์ 3.0 สินค้าในอดีตของเราเป็นสินค้าใช้แรงงานเข้มข้น เพราะว่าในช่วง 30-40 ปีเมื่อไทยเปิดประเทศและเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง มีการย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย เพราะเรามีแรงงานจำนวนมาก แรงงานเราถูก แต่ถึงทุกวันนี้แรงงานเราไม่ถูกเหมือนเมื่อ 30-40 ปีก่อนอีกแล้ว ราคาที่ดินเราก็สูงขึ้น นอกจากนี้เรายังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน เพราะฉะนั้นเมื่อเพื่อนบ้านเรา รอบบ้านเราที่เรียกว่า CLMV เปิดขึ้นมาซึ่งเหมือนกับเราเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว คือแรงงานถูก ที่ดินถูก และที่สำคัญเค้าได้ GSP ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะฉะนั้นหลายอุตสาหกรรมก็ย้ายฐานจากบ้านเราข้ามไปฝั่งโน้น ประเทศเราจะไปยังไง และเราไม่มี R&D เราไม่มีนวัตกรรมเป็นของตนเอง เพราะเราเป็นประเทศที่ทำ OEM มาตลอด คือรับจ้างผลิตมาตลอด

ประเทศของเรามาถึงวันนี้เรายังหา Global Brand หรือว่า แบรนด์ระดับโลกของไทยเราเองยังไม่มี เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ประเทศไต้หวัน หรือแม้แต่ประเทศเกาหลี ซึ่งเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วยังแย่กว่าประเทศไทย แต่วันนี้เกาหลีมี Global brand มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ Samsung, LG, Daewoo เหล่านี้เป็น Global Brand ประเทศไทยเรายังแทบจะไม่มีที่เป็นของเราล้วนๆ มีอยู่อันเดียวที่นับได้ก็คือ Red Bull- เครื่องดื่มกระทิงแดง แต่ว่าเมื่อเราดูเนื้อแท้ของกระทิงแดงจริงๆ เราไม่ได้เป็นคนทำแบรนด์นี้คนที่ทำแบรนด์จริง ๆ ก็คือ ตัวแทน  หรือว่า คนที่ได้สิทธิในการผลิต Red Bull ที่อยู่ในออสเตรีย เป็นคนสร้างแบรนด์ เพราะฉะนั้นประเทศไทยของเรา เราเก่งในเรื่องการผลิต OEM ให้คนอื่น

ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราเป็นแบบนี้ เราเคยเฟื่องฟู ในอดีตเรามี GDP ที่เติบโต 7-8 % 9% 10% มานานจนถึงยุคหนึ่งที่เราถูกมองว่า ประเทศไทยเป็นเสือตัวที่ 5 และท้ายสุดก็คือเป็น NICS นิกส์ เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่ว่าวันนี้เราไม่ได้เป็นเสือ เราก็เป็นแค่แมว คือคล้ายๆ เสือแต่ไม่ดุร้าย และถ้าจีดีพีของเราเติบโตที่ 3-4 % ไปเรื่อยๆ กว่าเราจะพ้นกับดักจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปเป็นรายได้สูง เราทำได้ คือมันมีกำไรแต่กำไรนิดเดียว แต่กว่าจะถึงจุดนั้นคงจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ประเทศไทยไปไม่ไหว

2.Aging Society: สังคมผู้สูงอายุ

นอกจากวันนี้แรงงานเราไม่ถูกแล้ว เรายังขาดแคลนแรงงาน เรามีอัตราการว่างงานเป็นอันดับสองของโลก ช่วงที่ดีที่สุดอัตตราคนตกงานอยู่ที่ประมาณ 0.4 % ต่ำเป็นอันดับสองของโลก ปัจจุบันเราก็มีอัตราการว่างงานประมาณ 0.7% แต่ก็ยังเป็นอันดับสองของโลกอยู่ดี เพราะฉะนั้นนี่เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ แต่เมื่อเราไปดูสถิติพบว่าแรงงานยังไม่รวมกับแรงงานต่างด้าวที่เป็นพม่า เขมร เวียดนามเป็นหลัก ถ้าหากจำนวนนี้ออกไปประเมินว่ามีประมาณ 4 ล้านคน จะพบว่าประเทศไทยเราขาดแคลนแรงงาน และในปัญหานี้ก็มีปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก ก็คือคนที่อยู่ใน working force หรือว่าแรงงานที่ทำงานได้ หดตัว แต่ไปเพิ่มที่ปริมาณผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุคือมีอายุเฉลี่ยที่ประมาณ 70 ปี ปัจจุบันจากสถิติเรามีอัตตราผู้สูงอายุที่กว่า 11% และคาดว่าถ้าอัตราการเติบโตยังเป็นแบบนี้ภายในไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า หรืออีก 6-7 ปีข้างหน้าเราจะมีผู้สูงอายุประมาณ 20% ของจำนวนประชากร คือจำนวนประชากรของประเทศไทยตอนนี้มีประมาณ 67 ล้านคน ตอนนี้มีผู้สูงอายุที่ 11% เศษคือที่ประมาณ 7-8 ล้านคนแล้ว

เพราะฉะนั้นสองปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งเป็นที่มาของ Thailand 4.0

3.Digital Disruptive

ปัญหาที่ 3 ที่ใหญ่ที่สุดก็คือเรื่อง Digital Disruptive คำว่า Disruptive มันคือการหักศอก การทำลายล้างไม่ใช่ค่อย ๆ landslide เมื่อก่อนทุกอย่างมันค่อย ๆ ลดลง เรายังพอคาดการณ์ได้ แต่ทุกวันนี้มันลดแบบหักศอก มันทำลายอุตสาหกรรมเดิม ๆ ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต เช่น การเกิดขึ้นของกล้องดิจิทัลที่ทำให้ บริษัทฟิล์มยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างโกดักซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปีต้องล้มหายตายจากทั้งที่เป็นผู้ค้นพบเทคโนโลยีนี้ก่อนใครในขณะที่ยังครองส่วนแบ่งในตลาดฟิล์มโลกถึง 90% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดิ้นรนของผู้เล่นรายอื่นๆ ที่มีส่วนแบ่งในตลาดเล็กมาก การที่จะยืนอยู่ได้จึงต้องมีนวัตกรรมต้องมีเทคโนโลยี ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อ Digital Camera รุ่งเรืองอยู่พักใหญ่แต่วันนี้ก็โดน Disrupt อีกจากโทรศัพท์มือถือ กลายเป็นว่าทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ยุคนี้เป็นยุคของเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าที่เราคาดคิด คือมันเปลี่ยนทุก ๆ วันทุก ๆ นาที  เทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาก็จะฆ่าเทคโนโลยีเก่าๆ  เพราะว่าเมื่อ Digital Transformation เกิดขึ้น ทุกอย่างที่เคยเป็นไปไม่ได้ทุกวันนี้เป็นไปได้ แล้วประเทศไทยเราจะทำอย่างไร

R&D กับนวัตกรรม

จาก 3 ปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น จึงได้กลับมามองในแง่ของสภาอุตสาหกรรมซึ่งมี 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดยักษ์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่เป็น SME เพราะทั้ง  45 กลุ่มได้ตระหนักและเห็นแล้วว่า แรงกระเพื่อมของการเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้ยิ่งกว่าทสึนามิ เมื่อ Disruptive มาแล้วเราจะอยู่หรือจะไป เราเลือกที่จะอยู่ การที่เลือกที่จะอยู่จึงเป็นที่มาของ Industry 4.0 ซึ่งขับเคลื่อนร่วมไปกับ Thailand 4.0

ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 R&D เป็นเรื่องที่สำคัญหากเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ประเทศไทยเรายังไม่มีนวัตกรรม งบประมาณ R&D ของประเทศเรายังน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เป็นผู้นำในอันดับต้นๆ  คืออยู่ที่ประมาณ 0.3-0.4% ของรายได้ เกาหลีซึ่งมีระบบ Internet Wifi ที่ดีที่สุดในโลกใช้งบฯ R&D ในอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ที่กว่า 4% มากกว่าญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ 2% กว่าเช่นเดียวกับจีนและสิงคโปร์ ส่วนสหรัฐอเมริกาและเยอรมันอยู่ที่ประมาณ 2-3%

ทุกวันนี้รัฐบาลก็รู้ปัญหาแล้วจึงพยายามให้ Incentive หรือว่าให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับประเทศไทยผู้ที่ลงทุนทางด้านนี้สามารถเอางบฯ มาหักภาษีได้ถึงสามเท่า เพราะฉะนั้นตัวเลขจึงก็เริ่มขยับขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึง 1% อยู่ที่ประมาณ 0.7 % แต่ว่าเป้าหมายของเราอยากจะให้ไปถึง 1 แล้วก็หลังจากนั้นไปถึง 1.5

S-Curve

10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย: S-Curve Industry 

เพราะฉะนั้นใน Thailand 4.0 ด้วยประเด็นเหล่านี้ รัฐบาลจึงกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายขึ้นมาเรียกว่า S-Curve Industry หรือ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะแบ่งออกเป็น 5 อุตสาหกรรม S-Curve แรกที่เรียกว่า First S-Curve แล้วก็อีก 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เรียกว่า New S-Curve

First S-Curve หรือ อุตสาหกรรมเก่าที่ประเทศไทยมีศักยภาพและยังเป็นผู้นำอยู่ แต่ด้วย Digital Disruptive อาจจะทำให้เราตกกระป๋องทันทีเลยก็ได้ (หากไม่มีการปรับตัว)

1.ยานยนต์สมัยใหม่ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย เราเป็นผู้ส่งออกและผลิตรถยนต์หนึ่งในสิบของโลกโดยเฉพาะรถกระบะเราเป็นอันดับหนึ่งของโลก เรามี Supply Chain ที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่ว่าระบบที่เราใช้อยู่เป็นแบบเครื่องสันดาปภายใน และเป็นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก แต่ในอนาคตเทรนด์ที่กำลังมาคือ รถไฟฟ้า Future Vehicle หรือว่ารถยนต์สมัยใหม่ ตัวส่วนประกอบจากเป็นพันชิ้นจากพันซัพพลายเออร์จะเหลืออยู่แค่ 18 ซัพพลายเออร์ ซึ่งหายไปเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของท่อไอเสีย หม้อน้ำ ตอนนี้รถยนต์เป็นเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่วิ่งได้เท่านั้นเอง คือเหลืออยู่ 18 ชิ้นโดยประมาณ แล้วซัพพลายเออร์ที่แข็งแกร่งของเรา Supply Chaining ของเราหายทันทีเลย จากคนที่เคยเก่งที่สุดกลับกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรเลย

เราก็กลัวว่าถ้าเราไม่เตรียมไว้ก่อน อุตสาหกรรมที่จ้างคนเป็นแสนๆ คนในประเทศเรา ถ้ามันหายไปหรือล่มสลายไปเราจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงพยายามผลักดันให้มี EV (Electric Vehicles) ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว อย่างเรื่องของ Battery Technology เพราะว่าตัวสำคัญก็คือเรื่องนี้ จะทันหรือไม่ทันก็ไม่ทราบ แต่ว่าตอนนี้ล่าสุดทาง Tesla ก็ได้เปิดโรงงานของ Tesla ที่เซี่ยงไฮ้เป็นทางการไปแล้ว

2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ประเทศไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปีหนึ่งประมาณสองแสนกว่าล้านบาท แต่ว่าต่อไปถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันของเทคโนโลยี ระบบเดิมอาจจะหายไปทันที ยอดขายของเราก็จะกลายเป็นศูนย์

3.การท่องเที่ยว ปัจจุบันไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 38 ล้านคนต่อปีคิดเป็นอันดับ 7 ของโลก แต่ปัญหาของเราคือใน 38 ล้านคน 10 ล้านคนเป็นคนจีน เราไม่ได้รังเกียจจีน แต่ระบบจีนนั้นดีเกินไป จีนเข้ามาทำเองหมดทุกอย่าง เราไม่ค่อยได้อะไร ได้เศษเงิน แม้กระทั่งระบบการชำระเงิน Alibay เค้าก็ดูดกลับไปหมดเลย คนจีนมาเปิดโรงแรม มาเปิดร้านนวด มาเปิดร้านของชำร่วย รถทัวร์ ไกด์ทัวร์ ครบวงจร ประเทศเราไม่ค่อยได้อะไร ตรงนี้หมายความว่า ถ้าเราจะทำให้การท่องเที่ยวมีคุณภาพมากขึ้นและมี value added มากขึ้น เรามีจุดแข็งคือความเป็นศูนย์สุขภาพ เพราะว่าขณะนี้เรามีการแพทย์ที่ดีมาก มีการเข้ามาตรวจเช็คร่างกาย ตรวจสุขภาพประจำเดือนจากหลายๆ ประเทศที่บินเข้ามา เพราะว่าบ้านเราราคาดี หมอคุณภาพดีระดับโลก เพราะฉะนั้นเราก็อยากได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น

4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ บ้านเราเป็นการเกษตรอยู่แล้วแต่เราเพิ่มมูลค่าไม่ได้ เรามีปัญหาตลอด ตอนนี้สินค้าล้นตลอด ปาล์มก็ลดราคา ยางก็ถูก แต่ว่าบ้านเรามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแต่เราไม่สามารถทำให้มันดีได้และเพิ่มมูลค่าได้

5.การแปรรูปอาหาร/Food for the Future มีความสำคัญเพราะเราเป็นครัวของโลก เราเป็นผู้ส่งออก และมี inlets ที่ดีมาก ผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหารหรือว่าผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตรจากไทยต่างชาติให้ความเชื่อถือ แต่วันนี้เทรนด์ของการบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไป เช่น เรื่องของข้าว คนบริโภคแป้งน้อยลง เพราะคนกลัวเรื่องความอ้วน กลัวโรคเบาหวาน การแปรรูปอาหาร food for the future ก็คือเราจะหาสายพันธุ์ข้าว เราจะผลิตข้าวอย่างไรให้มีกากใย กินแล้วไม่อ้วน กินแล้วคนเป็นโรคเบาหวานก็ไม่มีปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของ Bio Technology ซึ่งเราจะต้องทำ Food for the future ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องใหญ่

5 อุตสาหกรรมที่เราไม่เคยมี หรือ New S-Curve

1.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม หรือRobotics & Automation

2.การบินและโลจิสติกส์ ประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องที่ตั้ง เราอยากจะดึงศูนย์กลางทางการบินมาอยู่ที่ประเทศไทยแทนที่สิงคโปร์ซึ่งตอนนี้เป็นศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางซ่อมซาก แต่ประเทศไทยตอนนี้เรามีสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่สามที่กำลังจะเกิดขึ้น เรามีสามสนามบินก็คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ขณะนี้ก็มีแอร์บัส โบอิ้ง รวมทั้งรัสเซียและฝรั่งเศสก็กำลังเข้ามาคุยกันว่าจะใช้ประเทศใดเป็นศูนย์ในการซ่อมซากบำรุงหรือ Overhaul

3.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Bio Fuel&Bio Chemical) ทุกวันนี้ในเทรนด์ของโลกทุกอย่าง สินค้าต้องเป็นสินค้าที่รักษ์โลกและย่อยสลายได้เป็น Green Products เช่น ในอนาคตอาจจะมีพลาสติกที่ย่อยสลายได้ หรือ พลาสติกชีวภาพ เหล่านี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะว่าวันนี้ PPTGC หรือว่าเรียก GC ได้ไปซื้อบริษัทของคากิล ซึ่งเรียกว่า Nature Works ผู้ผลิต Bio Plastic ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตอนนี้ PPTGC เป็นหุ้นใหญ่ เปิดในอเมริกา ได้นำเอาพืชผลทางการเกษตรของไทยเราที่มีเหลือเยอะแยะ เช่น มันสำปะหลัง ส่งไปลองผลิตดู ปรากฏว่าขณะนี้ทำสำเร็จแล้ว และกำลังมีแนวโน้มที่จะมาตั้งโรงงานในประเทศไทย เพราะถ้าเปิดแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ พืชผลทางการเกษตรต่างๆ ที่เมื่อก่อนไม่ค่อยมีราคา ราคาก็จะดีขึ้น เพราะว่ามันจะถูกสร้างมูลค่าเพิ่มในอีกรูปแบบหนึ่ง

4.ดิจิทัล ในวันนี้ถ้าไม่มีดิจิทัล ไม่มี platform นี้ เราก็ไม่เข้าสู่ยุค 4.0 ดังนั้น สิ่งนี้คือหัวใจ

5.การแพทย์ครบวงจร ประเทศไทยทุกวันนี้เป็น Medical Hub แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เราเป็น Medical Hub for service คือมีโรงพยาบาลจำนวนมาก มีหมอที่เก่งจำนวนมาก เรามีเตียงจำนวนมาก ราคาโดยเฉลี่ยของเราถูกกว่าสิงคโปร์ประมาณกว่า 30% แต่ว่าเราไม่ต้องการแค่ Service เพราะการแพทย์ครบวงจรก็คือ เราจะต้องมีโรงงานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ซึ่งแพงมาก เราก็จะนำกลุ่มที่ทำชิ้นส่วนยานยนต์ Transform ให้ไปผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า และอีกอย่างก็คือการทำเรื่องอุตสาหกรรมยาครบวงจร เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีทั้งยา มีทั้งเครื่องมือแพทย์ และมีภาคบริการ จึงจะเรียกได้ว่า ครบวงจร

คุณเกรียงไกรได้ให้ข้อสรุปว่า ทางออกเรื่องปัญหาแรงงานของไทยก็คือ Automation & Robotics

“บางคนบอกว่า Robotics หรือว่า Automation บริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่มีกำลังซื้อ ก็จริง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ทั้งหมด มันมี Automation ทุกระดับแล้วโดยเฉพาะ SME เพราะฉะนั้นการจะพัฒนาประเทศต่อไปได้สิ่งสำคัญก็คือ ทำยังไงให้เราเปลี่ยน Mind Set: Disruptive Technology ไม่สำคัญเท่าเราจะ disrupt ตัวเองยังไง disrupt ความคิดเรายังไง”

“ความจริงแล้วถ้า SME ของเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ก่อน ไม่ว่าเราจะเป็นคนคิดค้นนวัตกรรม หรือว่าผลิตภัณฑ์ หรือว่าเป็น OEM เราจำเป็นที่จะต้องปรับตัว เพราะต่อไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นจะนำธุรกิจใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งเป็นไฮเทคโนโลยีเข้ามา แล้วอุตสาหกรรมไทยตามเขาทันไหม ใครจะเป็น Supply Chain ให้เขา เขามองประเทศไทยเราเป็น connected industry เขามองว่าเราเป็นตัวเชื่อมเขา เขาก็เลยหนักใจในเรื่องนี้จึงพยายามหา Package เข้ามาช่วยคนไทยให้พัฒนาตามนโนบายของเราคือ Industry 4.0 ก็คือทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันที่จะไปช่วยเขาเสริมเขา เป็นส่วนหนึ่งของเขา หัวเขาไปขนาดนี้แต่ข้างล่างไม่มีเลย เขาไปไม่ได้ เขาจะมาลงทุนได้ยังไงในเมื่อเราไม่มีคนเลยที่เก่ง เพราะฉะนั้นวันนี้หน้าที่ของประเทศมีสองสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือเรื่องของบุคลากรจะทำยังไงเรื่อง Up-Skill, Re-Skill ในอุตสาหกรรมที่เราไม่เคยเป็นมาก่อนไม่เคยทำมาก่อน จะมีใครมาสอนให้ทำเป็น ไม่เช่นงั้นเราจะมีแต่คนที่ไม่มี skill แต่ว่าจะไปทำ high-technology ไม่ได้”

อ้างอิง:

www.mmthailand.com

About The Author