circular economy

ทำไมต้อง CIRCULAR ECONOMY ทางรอดของมนุษย์ในยุค ANTHROPOCENE (ตอนจบ)

นวัตกรรมจากธรรมชาติ

“โลกที่ยั่งยืนนั้นมีอยู่แล้ว…แค่เรามองเข้าไปในธรรมชาติ”  คือคำยืนยันของ เจนีน เบนยัส (Janine Benyus) ผู้เขียนหนังสือ ชีวลอกเลียน: นวัตกรรมบันดาลใจจากธรรมชาติ (Biomimicry: Innovation Inspired by Nature) เมื่อปี 1997 และร่วมก่อตั้งสถาบันชีวลอกเลียน Biomimicry Institute ขึ้นเมื่อปี 2006 ซึ่งนับว่าเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่เธอให้นิยามว่าเป็นการศึกษารูปแบบและกระบวนการทำงานของธรรมชาติที่น่าทึ่งที่สุดเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์

เจนีน บอกว่านักออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องศึกษางานออกแบบมากมายเพื่อที่จะรวบรวมความคิด ตัดนู่น แปะนี่ เพื่อมองหาว่าจะนำไอเดียต่างๆ มาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร

เธอเชื่อว่า นักออกแบบสามารถลอกเลียนไอเดียดีๆ จากธรรมชาติได้มากมาย เพราะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้มากถึง 5-10 ล้านชนิด แต่ละชนิดผ่านวิวัฒนาการมานับพันล้านปี ปัญหาหลายอย่างที่มนุษย์เจออยู่ทุกวันนี้ เป็นปัญหาเดียวกับที่ธรรมชาติเจอมาแล้ว ซึ่งเราสามารถเลียนแบบธรรมชาติได้ 3 แบบตั้งแต่ 1. รูปแบบรูปทรง (shape and form) 2. กระบวนการทำงาน (process) และ 3. ระบบนิเวศ (ecosystem) การลอกเลียนธรรมชาตินับว่าเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของการออกแบบเพื่อความยั่งยืน

ความก้าวหน้าของศาสตร์ด้านนี้ได้ก้าวไปถึงขึ้นลอกเลียนกระบวนการทำงานของธรรมชาติได้สำเร็จบ้างแล้ว เช่น
แผงโซลาร์เซลล์เลียนแบบใบไม้ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Caltech) ที่มีขนาดเล็กและมีความยืดหยุ่นกว่าแผงโซลาร์แบบเก่าและยังผลิตกระแสไฟได้เพียงพอกับการใช้งานภายในบ้าน การผลิตซีเมนต์ของบริษัท Calera ซึ่งเลียนแบบการสร้างหินปูนของปะการัง ด้วยการนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาแปลงให้เป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการระเบิดภูเขาของอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์

เจนีนทิ้งท้ายว่าพัฒนาการที่น่าตื่นเต้นมากๆ ในวงการออกแบบตอนนี้ที่จะมาช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนคือเครื่องพิมพ์สามมิติ เพราะเป็นการสร้างสิ่งของที่คล้ายกระบวนการผลิตของธรรมชาติที่สุด และยังมีโอกาสผสมผสานวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพอลิเมอร์อย่างการ Upcycle พลาสติก หรือพอลิเมอร์จากวัตถุดิบในธรรมชาติซึ่งเป็นของเหลือใช้ เช่น ไคตินจากเปลือกกุ้ง เปลือกปู มาแปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนการใช้ทรัพยากรได้

ในสหรัฐอเมริกามีการคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2010-2025 ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ออกแบบตามแนวทางชีวลอกเลียนจะสร้างรายได้สูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพได้สูง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นวัตกรรมที่เกิดจากการศึกษาการทำงานของธรรมชาติจึงนับเป็นองค์ความรู้สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมโดยรวมไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้

circular economy
©Unsplash/Daniel Funes Fuentes

ประเทศไทยกับเศรษฐกิจหมุนเวียน 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการบริโภคทรัพยากรและการใช้พลาสติกของคนไทยไม่มีแนวโน้มลดลงเลย และสอดคล้องกับการคาดการณ์ไว้ของนักวิทยาศาสตร์ ว่าจีดีพียิ่งเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งมีการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ทางรอดเดียวในการรับมือกับวิกฤติขยะและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่ร่อยหรออย่างรวดเร็ว ก็คือการหันไปส่งเสริมการพัฒนาแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิวัติความสัมพันธ์ของผู้บริโภคกับการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง และปฏิรูปการออกแบบ การผลิต การใช้และการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศทั้งระบบ แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนในที่นี้ต้องใช้เวลา แต่ก็จะทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานซึ่งสามารถใช้เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ไปในตัว

เราจำเป็นต้องหาทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single-use Plastic) ที่ไม่จำเป็นเลยหลายๆ ประเภท เช่น หลอดพลาสติก จานชามพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก ก้านสำลี ที่คนกาแฟ เหล่านี้เราสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุธรรมชาติประเภทอื่นๆ ได้

ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่ตั้งอยู่ในระบบนิเวศเขตร้อน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากทั้งทางบกและทางทะเลในแง่ของทรัพยากรชีวภาพ เราจึงมีโอกาสพัฒนาและออกแบบวัสดุจากพืชพันธุ์ท้องถิ่นได้อีกมาก การหวนกลับไปศึกษาศักยภาพของวัสดุท้องถิ่นอย่างเช่นไม้ไผ่ หวาย สาหร่ายทะเล สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี

ขอยกตัวอย่างแค่ไผ่ ซึ่งเป็นพืชมหัศจรรย์ที่สามารถโตได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ไผ่เป็นทรัพยากรหมุนเวียนที่โตเร็วและมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นมาก ไผ่บางชนิดสามารถโตได้กว่า 1 เมตรภายใน 24 ชั่วโมง ไผ่ส่วนใหญ่จึงโตเต็มที่และพร้อมเก็บเกี่ยวได้ภายในเวลา 1-3 ปีเท่านั้น ในขณะที่ไม้เนื้อแข็งต้องใช้เวลานับสิบปีหรือมากกว่ากว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

การปลูกไผ่ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหรือใช้ยาฆ่าแมลง ระบบรากที่กว้างขวางและแข็งแรงของไผ่ยังช่วยตรึงไนโตรเจน ปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้นและช่วยป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน นอกจากนี้ไผ่ยังไม่ต้องปลูกใหม่ทุกครั้งที่เก็บเกี่ยว เพียงเหลือหน่อและรากเอาไว้ไผ่ก็จะฟื้นคืนกลับมาได้อีก เท่ากับว่าเราสามารถมีไม้ใช้ได้อย่างยั่งยืนภายในระยะเวลาไม่กี่ปี  ทั่วโลกมีไผ่กว่า1,200 ชนิด ในไทยพบได้มากกว่า 60 ชนิด แต่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายประมาณ 10-20 ชนิดเท่านั้น เราจึงยังมีโอกาสศึกษาวิจัยคัดเลือกสายพันธุ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากไผ่ได้อีกมากมาย

เราสามารถนำไผ่มาแปรรูปได้แทบจะทุกส่วน หน่อเพื่อการบริโภค ขุยนำมาทำเป็นปุ๋ย ใยใช้เป็นเครื่องขัดผิว ลำสำหรับใช้ในการก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย หรือใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมในครัวเรือน อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบอย่างทันสมัย ไปจนถึงตะเกียบที่ใช้กันอยู่ทั่วไป

ความจริงไผ่สามารถแปรรูปได้หลากหลายมาก และสามารถนำมาแทนที่การใช้ไม้ได้เกือบทุกประเภท ตั้งแต่กระดาษ แผ่นปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ ถ่าน วัสดุก่อสร้าง ถ้าเทียบกันใยต่อใย เส้นใยของไผ่แข็งแกร่งพอๆ กับเหล็ก ทนทานพอๆ กับซีเมนต์ และมีโอกาสผิดรูปบิดงอจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมน้อยกว่าไม้เนื้อแข็งอื่นๆ

ปัจจุบันยังสามารถนำไผ่มาใช้เป็นหลอดดูด ช้อนส้อม ก้านสำลี แปรงสีฟัน เหล่านี้ช่วยทดแทนการใช้พลาสติกและลดการสร้างขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงต้องทำควบคู่กันไประหว่างการส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่ นำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีระบบรีไซเคิลและรับผิดชอบต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตลอดช่วงวงจรชีวิต ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้นักออกแบบ ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการเสาะแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ จากธรรมชาติในชุมชน รวมไปถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สามารถนำมาผสมผสานกับความรู้ในการออกแบบสมัยใหม่ ให้เน้นเรื่องของความสวยงาม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

หากทำได้สำเร็จทั้งในเชิงนโยบายของภาครัฐและภาคเอกชน จะทำให้ประเทศไทยเดินตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นหลักประกันว่าเราได้เสริมสร้างต้นทุนทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

-The End-

ที่มา: นิตยสาร “คิด” Creative Thailand ฉบับปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (เดือนพฤศจิกายน 2561)

ผู้เขียน: เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งทั้ง IUCN, WWF และ WCS ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับเป็นนักเขียนและนักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อมและทางออกด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบันขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะทะเลและการอนุรักษ์ปะการังกับ ReReef บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วยพลังผู้บริโภค

ข้อมูลจาก:
หนังสือ Biomimicry: Innovation Inspired by Nature โดย  Janine M. Benyus
หนังสือ Cradle to Cradle: Remaking the Way We Make Things โดย Michael Braungart และ William McDonough
รายงาน Towards a circular economy: business rationale for an accelerated transition. จาก Ellen MacArthur Foundation
รายงาน A European Strategy for Plastics in a Circular Economy
บทความ Plastic waste inputs from land into the ocean. จาก Science Magazine Vol. 347 Issue 6223.
การบรรยายเรื่อง Beyond the Anthropocene. โดย Johan Rockström จากงาน World Economic Forum 2017.
รายงาน The Sustainable Development Goals Report 2018. โดย UN

About The Author