ความจริงเกี่ยวกับพลาสติก: วายร้ายในภาพลักษณ์?

ความจริงเกี่ยวกับพลาสติก: วายร้ายในภาพลักษณ์?

พลาสติกคำนี้ดูเหมือนผู้ร้าย ไม่ใช่ผู้ดีเหมือนแก้ว หรือ ไม้ และมักมีชื่อเสียงในทางแย่ๆ ด้วยเหตุผลมากมายในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามในชีวิตประจำวันของคนทุกคนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ข้องแวะกับพลาสติก เพราะฉะนั้นมันคงจะไม่ยุติธรรมและง่ายเกินไปที่จะกล่าวโทษวัสดุโชคร้ายชนิดนี้ที่เกิดขึ้นมาบนโลกจากการประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์

นานมากแล้วที่พลาสติกมีปัญหาด้านภาพลักษณ์ กล่าวได้ว่า ร้ายแรงเกินเยียวยา จะต้องใช้ทีมงาน PR ที่มีพรสวรรค์มากในการจัดการกับปัญหานี้และทำให้พลาสติกดูดีขึ้นบ้าง กระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาเกี่ยวกับพลาสติกและความเสียหายที่มันเป็นตัวการต่อสิ่งแวดล้อมทั่วไปย้อนหลังไปถึงทศวรรษที่ 1970 ในทศวรรษนี้ผลการศึกษาที่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเป็นผลงานวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของพลาสติกต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล นับตั้งแต่นั้นมาดูเหมือนว่า คำติชมถึงมันไม่เคยเงียบเสียงลงเลย ในหลายกรณี การวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้นับเป็นความชอบธรรม ใครบ้างไม่เคยเห็นภาพชายหาดที่เต็มไปด้วยขยะมูลฝอย เกาะขยะลอยได้ในท้องทะเล และซากสัตว์ที่ตายอยู่ท่ามกลางถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์

Microplastics: อันตรายที่มองไม่เห็น

นอกจากกองขยะพลาสติกเป็นภูเขาเลากาแล้ว ปีที่ผ่านมาก็ยังพบปัญหาอื่น ๆ เกิดขึ้นอีก ซึ่งวายร้ายก็คือ Microplastics: อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กมากๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดใหญ่แตกหักหรือย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นอกจากนี้ microbeeds ที่ทำจากพลาสติกก็มักถูกใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ถึงที่สุดแล้วอย่างน้อยที่สุดในชีวิตประจำวัน เราก็ยังผลิตเจ้าไมโครพลาสติกขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การซักผ้าใยสังเคราะห์หรือผ้าขนสัตว์เทียมก็ยังทิ้งเจ้าส่วนที่เล็กที่สุดนี้ลงไปในน้ำ ยางรถยนต์ก็มีส่วนในการก่อเจ้าไมโครพลาสติกเช่นเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์จึงใช้ยางแบบที่มีรอยสึกกร่อนต่ำ (low-abrasion) มากขึ้นเพื่อลดการเกิดไมโครพลาสติก

จากผลการศึกษาของ Global Marine and Polar Program และ The International Union for Conservation of Nature (IUCN) อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ถึง 31 ของพลาสติกทั้งหมดที่ถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปี โดยร้อยละ 35 มาจากเสื้อผ้าและร้อยละ 28 มาจากการผลิตภัณฑ์จากยางรถยนต์

ว่าแต่ทำไมไมโครพลาสติกจึงเป็นอันตรายนัก

นักวิจัยได้แสดงผลการศึกษาว่าอนุภาคของพลาสติกสามารถถูกดูดซับได้โดยเซลล์ เกิดการสะสมระหว่างเซลล์และรบกวนการสื่อสารระหว่างเซลล์ แม้จะยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์เป็นเวลานาน แต่การสะสมของพลาสติกในร่างกายก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดี อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดสามารถปกป้องเราได้จากเจ้าอนุภาคเล็กจิ๋วเหล่านี้ ระบบกรองแบบดั้งเดิมไม่อาจกรองเจ้าอนุภาคเหล่านี้ออกจากน้ำ คนทั่วไปจึงมีแนวโน้มที่จะบริโภคไมโครพลาสติกปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม

ในบางประเทศเริ่มห้ามการใช้ไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไมโครพลาสติกจะไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในสวีเดนอีกต่อไป เมื่อปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาห้ามผลิตเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ (microbeeds) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถวางจำหน่ายได้ และในปีหน้าเภสัชภัณฑ์ในสหราชอาณาจักรจะได้รับผลกระทบเช่นกันจากแนวทางป้องกันดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามเหล่านี้ใช้ได้เฉพาะกับการเติมไมโครพลาสติกลงไปในผลิตภัณฑ์เท่านั้น เพราะสัดส่วนของอนุภาคไมโครพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่อยู่ในมหาสมุทรและในน้ำทั่วไป ไม่ได้มาจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทั้งนี้ ไมโครพลาสติกเกิดขึ้นเมื่อชิ้นส่วนพลาสติกขนาดใหญ่เกิดการผุพังเปื่อยยุ่ยมากขึ้น โดยเฉพาะจากขยะพลาสติกที่ลอยเกลื่อนอยู่ทุกหนทุกแห่งในทะเล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เกินเยียวยา

ขยะจากทะเล

แล้วขยะพลาสติกในทะเลของเรามาจากที่ไหน

จากนักท่องเที่ยวที่ทิ้งขวดครีมกันแดดและ ice packs ไว้บนชายหาดหรือ? หรือว่าเป็นเรือสำราญและเรือบรรทุกสินค้าที่กำจัดขยะของพวกเขาลงในทะเลหลวง? โชคร้าย มันไม่ใช่การโยนความผิดบาปกันได้ง่ายๆ อย่างนั้น เพราะในความเป็นจริง รายงานของ Eunomia ชี้ชัด ว่าขยะในทะเลมากกว่าร้อยละ 80 มาจากผืนแผ่นดิน!!

10 สายธาร: ที่มาของขยะพลาสติกส่วนใหญ่ในมหาสมุทร

จากรายงานดังกล่าวของ Eunomia ระบุว่า ในหนึ่งปีมีพลาสติกปริมาณ 12.2 ล้านตันเคลื่อนเข้าสู่มหาสมุทร 9 ล้านตันมาจากแผ่นดินใหญ่และชายฝั่ง ส่วนชายหาดมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของมลพิษประเภทนี้เท่านั้น การศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาใน Environmental Science & Technology แสดงให้เห็นว่า มีแม่น้ำสิบสายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องนี้ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการสำรวจตรวจสอบแม่น้ำทั้งหมด 57 สายทั่วโลก นักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการศึกษาสามารถแสดงให้เห็นว่า ปริมาณพลาสติกตั้งแต่ 0.47 ถึง 2.75 ล้านตันเดินทางข้ามแม่น้ำสู่มหาสมุทรได้ทุกๆ ปี และมีแม่น้ำ 10 สายที่มีส่วนร่วมถึงร้อยละ 93 ของขยะที่ไหลลงสู่มหาสมุทรทั้งหมดในแต่ละปี ได้แก่ แม่น้ำแยงซี, สินธุ, เหลือง, ไห่, ไนล์, คงคา, เพิร์ล, อามูร์, ไนเจอร์และแม่น้ำโขง แม่น้ำ 8 สายนี้อยู่ในทวีปเอเชีย ส่วนอีกสองสายอยู่ในทวีปแอฟริกา

โดยเฉพาะแม่น้ำแยงซีที่มีความยาว 6,380 กิโลเมตรในประเทศจีนถูกรายงานว่า มีส่วนรับผิดชอบต่อขยะพลาสติกที่ไหลสู่มหาสมุทรในแต่ละปีด้วยปริมาณถึง 1.5 ล้านตัน

จากนั้นขยะก็เดินทางกระจัดกระจายไปทั่วท้องทะเล แม้ว่าหลายคนจะคุ้นเคยกับเรื่องราวของหมู่เกาะขยะลอยได้ แต่ก็ใช่ว่าขยะทั้งหมดจะลอยอยู่บนผิวน้ำ ข้อมูลจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (German Federal Environment Agency) ระบุว่า ร้อยละ 70 ของของเสียทั้งหมดในทะเล (รวมทั้งของเสียที่ไม่ใช่พลาสติก) จมอยู่ก้นทะเล มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่ลอยอยู่บนพื้นผิวน้ำ ส่วนอีกร้อยละ 15 ถูกซัดขึ้นไปเกยตื้นบนชายหาดต่างๆ

The Great Pacific Garbage Patch : แพขยะ 100 ล้านตัน

แม้จะมีอัตราส่วนเพียงแค่ร้อยละ 15 บนพื้นผิวน้ำ เราก็ไม่อาจละเลยได้ พื้นที่ของ North Pacific Vortex หรือ กระแสน้ำวนแปซิฟิกเหนือระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและเอเชีย มีกระแสน้ำวนในทะเลที่เรียกกันว่า The Great Pacific Garbage Patch แปลให้สวยหรูได้ว่า “แพขยะใหญ่แปซิฟิก” หรือ “วงวนขยะแปซิฟิก” ความกว้างใหญ่ไพศาลของของแพขยะแปซิฟิกนั้นยากที่จะกำหนดชัดได้ เนื่องจากขอบเขตของมันเป็นไปโดยกระจัดกระจาย รายงานที่อ้างว่าพื้นที่มลพิษขนาดใหญ่นี้มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของรัฐเท็กซัสนั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้ ในความเป็นจริงแพขยะ Great Pacific ไม่ได้มีลักษณะเหมือนเกาะที่มีความหนาแน่นของขยะมากจนสามารถเดินอยู่ด้านบนได้ เพียงแต่มีความหนาแน่นของขยะสูงในพื้นที่นั้นเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจำนวนหนึ่งประเมินว่ามีขยะมูลฝอยรวมกันในบริเวณนั้นถึง 100 ล้านตัน!!!

Plastic is everywhere: พลาสติกมีอยู่ทุกหนแห่ง

ความจริงแล้วปริมาณขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะว่าพลาสติกนั้นมีอยู่ทั่วไปรอบๆ ตัวเรา ตั้งแต่แปรงสีฟันไปจนถึงเมาส์คอมพิวเตอร์ กระทั่งช่องลมระบายอากาศ ชีวิตของเราล้อมรอบไปด้วยพลาสติก และด้วยเหตุผลที่ดีต่างๆ นานา พลาสติกครองโลกมาตั้งแต่มันถูกประดิษฐ์ขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 การค้นพบกระบวนการ Vulcanisation และยางรถยนต์โดย Charles Goodyear เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 19

ในขณะนั้น John Wesley Hyatt ซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงกระบวนการผลิตของเทอร์โมพลาสติกเป็นครั้งแรกกำลังมองหาชิ้นส่วนทดแทนงาช้างเพื่อผลิตลูกบิลเลียด เขาได้จดสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 1865

วัลคาไนเซชัน-Vulcanisation คือกระบวนการทางเคมีที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างโมเลกุลของยาง เกิดเป็นโครงสร้างตาข่ายสามมิติ (โครงสร้างร่างแห) ทำให้ยางคงรูปและมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ไม่สามารถผันกลับได้ (irreversible process) ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ยางรถยนต์ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

ตั้งแต่นั้นมาพลาสติกก็ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของชีวิตเรา เมื่อเทียบกับวัสดุชนิดอื่นๆ พลาสติกมีข้อได้เปรียบที่สำคัญบางประการ เช่น พลาสติกบางชนิดทานทนต่อกรดและด่างบางชนิดต่างจากโลหะ พลาสติกหลายชนิดสามารถต้านทานความร้อนของเชื้อเพลิงได้กระทั่งสามารถนำไปใช้สร้างถังใส่เชื้อเพลิงได้ เนื่องจากประสิทธิภาพในการต้านทานต่อสารเคมี พลาสติกจึงเป็นวัสดุที่นิยมในการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าและของเล่นต่างๆ

ข้อได้เปรียบสำคัญอีกอย่างหนึ่งของพลาสติกก็คือ มันสามารถถูกแปรรูปเป็นรูปร่างใดก็ได้ไม่ยาก และด้วยคุณสมบัติข้อนี้เองที่ทำให้พลาสติกเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมสูง ในช่วงทศวรรษ 1950s และ 1960s เครื่องใช้พลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชัยชนะเหนือทุกครัวเรือน ด้วยรูปทรงและสีที่เป็นไปได้ในทุกๆ การออกแบบ และด้วยกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนต่ำทำให้ทุกคนสามารถซื้อหามาครอบครองได้ เมื่อเทียบกับวัสดุอย่างโลหะ แก้ว หรือ ไม้ซึ่งมีราคาแพง

เมื่อบ้านทั้งหลังสร้างจากพลาสติก

สัญลักษณ์ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือพลาสติกถูกประเมินให้เป็นวัสดุแห่งอนาคต: เมื่อ Monsanto เริ่มสร้างบ้านจากพลาสติกเกือบทั้งหลังในทศวรรษที่ 1950 บ้านหลังนี้เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ถึงปี พ.ศ. 2510 ที่ดิสนีย์แลนด์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงศักยภาพในการเปลี่ยนรูป ความเสถียรและความเอนกประสงค์ของพลาสติก มีผู้เข้าชม “บ้านแห่งอนาคต” หลังนี้ถึง  435,000 คน ก่อนที่มันจะถูกรื้อถอนอีกครั้งด้วยความยากลำบากหลังจากผ่านไป 10 ปี เนื่องจากพลาสติกมีความเสถียรมาก

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการเปลี่ยนรูปได้ง่ายของวัสดุไม่เพียงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับการออกแบบที่ทันสมัย ​​– รูปร่างที่ซับซ้อนยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้ด้วย ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมิดชิดสำหรับยาซึ่งมีเพียงพลาสติกเท่านั้นที่ทำให้ได้ อุตสาหกรรมทางการแพทย์น่าจะเป็นภาคที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากพลาสติก ในภาคนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยพลาสติกซึ่งมีราคาถูกกว่าแก้ว รวมไปถึงอวัยวะเทียมซึ่งไม่สามารถเป็นไปได้หากไม่มีพลาสติกเป็นตัวช่วย

ความเสี่ยงของการติดเชื้อตามคลินิกต่างๆ ลดลงได้ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกปลอดเชื้อ (sterile plastic packaging) และผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง การใช้พลาสติกต้านเชื้อโรค (Antimicrobial plastic) จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรค สามารถหยุดยั้งหรือกระทั่งฆ่าแบคทีเรียได้ ตัวอย่างเช่น การที่พลาสติกไม่เป็นสนิมและสามารถใช้งานได้นานกว่าวัสดุอื่น ๆ อายุของการเก็บรักษายาสามารถยืดออกไปได้ด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

มีตัวเลือกใดแทนที่พลาสติกได้บ้าง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำจากพลาสติกในวันนี้จะต้องทำด้วยพลาสติกเสมอไป เพราะมีผลิตภัณฑ์จำนวนไม่น้อยที่มีแนวโน้มกลับไปใช้วัสดุก่อนหน้านี้จากชื่อเสีย-คุณสมบัติในทางร้ายของพลาสติก ผู้บริโภคกลัวส่วนผสมที่เป็นพิษเช่น plasticisers และสารกันบูดในบรรจุภัณฑ์พลาสติกจึงหันกลับไปใช้แก้ว กระดาษแข็งและอลูมิเนียมอีกครั้ง

แก้ว เป็นวัสดุที่ใช้ทรัพยากรได้ประหยัดกว่าพลาสติก แก้วไม่ใช้น้ำมันในกระบวนผลิตเหมือนพลาสติก ร้อยละ 75 ของแก้วประกอบด้วยทราย ทรายควอทซ์ (quartz sand) ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ของเปลือกโลกซึ่งเป็นสัดส่วนที่ดีกว่าแหล่งวัตถุดิบของพลาสติกคือ-ปิโตรเลียม การรีไซเคิลแก้วก็ประสบผลสำเร็จสูงมากเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2513 การใช้พลังงานในการผลิตแก้วลดลงถึงร้อยละ 77 ไม่ใช่เป็นเพราะกระบวนการรีไซเคิลเท่านั้น แต่เป็นเพราะคุณสมบัติของตัววัสดุเอง- แก้วสามารถทำความสะอาดได้ง่ายและใช้ซ้ำได้โดยไม่มีเศษเหลือทิ้ง

แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าแก้วมีน้ำหนักมากกว่าพลาสติก ในการใช้งานบางประเภทเราก็ไม่อาจนำแก้วมาแทนที่พลาสติกได้ เราสามารถประหยัดพลังงานและทรัพยากรได้มากก็จริงด้วยการใช้แก้ว ซึ่งจะมีผลอย่างรวดเร็วหากมีการขนส่งที่ดีขึ้น ต้นทุนการผลิตแก้วใกล้เคียงกับการผลิตประป๋องดีบุก ความสมดุลของสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นมากหากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่างๆ สามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้งและไม่ต้องขนส่งหรือขนย้ายเป็นระยะทางไกลๆ  อย่างไรก็ตาม การใช้บรรจุภัณฑ์ผู้ดีเหล่านี้ก็ไม่อาจทำได้หากไม่มีผู้ร้ายอย่างพลาสติกเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะพวกฝาปิดและชั้นบุภายในก็มักใช้พลาสติกเพื่อปกป้องวัสดุและสิ่งที่บรรจุอยู่ภายใน

ข้อโต้แย้งอีกประการเกี่ยวกับทางเลือกในการใช้พลาสติกคือ ถุงช้อปปิ้ง-วัตถุที่เราต้องพบเจอกันทุกวันในทุกหนทุกแห่ง ในฐานะลูกค้าที่ใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จุดจ่ายเงินบ่อยครั้งคุณมักต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากเช่นพลาสติกหรือกระดาษ คำตอบนั้นซับซ้อนมากจริงๆ เนื่องจากการใช้กระดาษก็ใช่ว่าจะดีนัก-เท่าที่ควรจะเป็น พลังงานที่ต้องใช้ในการผลิตและเหตุผลเรื่องน้ำหนักไม่ได้ทำให้ถุงกระดาษเป็นทางเลือกที่เหมาะสมนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมันไม่ได้ถูกใช้งานหลายครั้ง นอกจากนี้ถุงกระดาษจะช่วยประหยัดทรัพยากรได้มากกว่าหากทำจากวัสดุรีไซเคิลเท่านั้น

Bioplastics : แล้วถ้าเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองล่ะ?

Bioplastics คำนี้หมายถึงพลาสติกที่ทำจากวัสดุหมุนเวียน พลาสติกจากข้าวโพดหรือต้นบีท (sugar beet) หรือแม้แต่กัญชา ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม แต่พื้นที่เพาะปลูกก็มีจำกัด เมื่อเราใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเราจะสูญเสียทรัพยากรในที่อื่นๆ ไปโดยไม่รู้ตัว

พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพอาจฟังดูดีในตอนแรก แต่ก็มีปัญหาเช่นกัน การย่อยสลายทางชีวภาพเป็นคำที่กว้างและไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นเหมือนกับปุ๋ยหมัก นักวิจัยเตือนว่าวัสดุเหล่านี้จะไม่ย่อยสลายเมื่อถูกโยนลงไปในทะเล เพราะหลายครั้งมันจะย่อยสลายตัวเองหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ เช่น ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 50 องศาเซลเซียส หรือ รังสียูวี ถุงขยะแบบที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพหากอยู่ก้นทะเลหรือบนทางด่วนมันจะไม่สูญสลายไปเองอย่างแน่นอน

สถานการณ์พลาสติกในยุโรป

สุดท้ายแต่มีความหมายไม่น้อยเลย พลาสติกเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ เป็นอุตสาหกรรมสำคัญในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศสมาชิก EU 28 ประเทศ มีมูลค่าการซื้อขายเกือบ 350 พันล้านยูโรในปี พ.ศ. 2559 และจากสมาคมพลาสติกยุโรป (EU Plastics Association) อุตสาหกรรมพลาสติกอยู่ในอันดับที่ 7 ในอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่ม

ดังนั้นอุตสาหกรรมพลาสติกจึงมีส่วนร่วมที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เกือบ 30 พันล้านยูโรถูกใช้ไปในการเงินสาธารณะ – Public finances และสวัสดิการในปี พ.ศ. 2559 มันมีผลต่อประชากรกว่า 1.5 ล้านคนในยุโรปที่เป็นลูกจ้างโดยตรงจากบริษัทต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมนี้

แม้ว่าเราจะประสบปัญหาใหญ่เกี่ยวกับขยะพลาสติก แต่เราก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้งานมันได้ แม้แต่ในกลุ่มที่หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกมากที่สุดก็ยังพอใจจะใช้มันภายใต้สภาวะปลอดเชื้อหากจำเป็น มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่รักความสบาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลาสติกทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหนีไปจากมัน และนั่นอาจไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องนัก โดยทั่วไปวัสดุต้องได้รับการจัดการอย่างสมเหตุสมผล การเลิกใช้เป็นเพียงคำกล่าวง่ายๆ ทุกคนคงไม่คิดว่าจะนำสิ่งของที่ช็อปปิ้งกลับบ้านในบรรจุภัณฑ์จากแก้วหรือโลหะ สำหรับหลาย ๆ คน ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้บรรจุหีบห่อหรือบรรจุในวัสดุรีไซเคิลจะไม่เป็นประโยชน์เลยเพราะการขนส่งและการผลิตมีราคาแพงเกินไป

พลาสติกไม่ไร้ค่าหากอยู่ถูกที่ถูกทาง

แต่ก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง โดยเฉพาะในยุโรปซึ่งดูเหมือนจะทำได้ดีมากในส่วนของการรีไซเคิลและการเผาไหม้ แม่น้ำในยุโรปนำขยะไหลลงสู่ทะเลเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ รัฐบาลต่างๆ กำลังพยายามควบคุมพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง เมื่อพลาสติกถูกคำนึงถึงเสมอตลอดวงจรชีวิตของมัน เราไม่อาจหลงลืมได้ว่ามันเป็นทรัพยากรวัตถุที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ไร้ค่าเลยแม้แต่น้อยหลังจากการใช้งานผ่านการรีไซเคิลหรือการเผาไหม้

About The Author