งานวิศวกรรมแห่งชาติ2018

วิศวกรรมแห่งชาติ 2561: Engineering for Society: Smart Engineering, Smart Life, Smart Nation

วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” (National Engineering 2018) งานสัมมนาวิชาการด้านวิศวกรรมและงานแสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิศวกรรม ภายใต้แนวคิด Engineering for Society: Smart Engineering, Smart Life, Smart Nation วิศวกรรมอัจฉริยะ เพื่อชีวิตทันสมัย สู่ประเทศไทย 4.0 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤศจิการยน 2561 ณ อิมแพค ฟอรั่ม ฮอลล์ 9 เมืองทองธานี

ความยิ่งใหญ่ของงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” ในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจาก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้ามาร่วมให้ความรู้ เพื่อยกระดับพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ผ่านปาฐกถาพิเศษ ยุทธศาสตร์แห่งชาติตามนโยบายทั้ง 3 กระทรวง ซึ่งจะช่วยสะท้อนบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีวิศวกรรมในการช่วยผลักดันประเทศให้ขับเคลื่อนไปด้วยปัญญา และสามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าการลงทุนไว้กว่า 5 ล้านล้านบาท อันจะส่งผลให้ระดับจีดีพี (GDP) ของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี  ได้แก่

  • แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม
  • แผนยุทธศาสตร์คมนาคม
  • แผนยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล

ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม ประธานการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 กล่าวว่า “งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561(National Engineering 2018) ในครั้งนี้ ถือเป็นปีที่ 13 ที่มีการจัดกันมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ ได้รวบรวมผู้ร่วมแสดงสินค้าเทคโนโลยีวิศวกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 100 ราย นำผลิตภัณฑ์เทคโนลยีจากหลากหลายสาขาอาชีพมาจัดแสดงอย่างครบครัน สำหรับไฮไลท์ในการจัดงาน วิศวกรรมแห่งชาติ 2561 คือการอัพเดทเทรนด์ความรู้ใหม่ๆ หลากหลายหัวข้อ เช่น นวัตกรรมความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร ซึ่งได้รับเกียรติจากวิศวกรชาวญี่ปุ่น มาบรรยายถึงการออกแบบโครงสร้างอาคาร ในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ เช่น ภัยก่อการร้าย การวางระเบิด การวางเพลิง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย รวมทั้ง การให้ความรู้ด้านการป้องกันอัคคีภัยสำหรับอาคารขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน ตึกสูงจากสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (National Fire Protection Association) ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอความรู้และการสัมมนาที่น่าสนใจ สำหรับวิศวกรและประชาชน อาทิ“Smart City”หรือ เมืองอัจฉริยะ เป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้ามาเพิ่มความสะดวก สบาย ประหยัด และปลอดภัยให้กับการใช้ชีวิต ซึ่งประเทศไทย จะมีเมืองใหม่ที่เป็น Smart City ในแถบเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ทั้งระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เป็นต้น  ด้วยการเชื่อมโยงโลกดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟนกับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น แอพพลิเคชั่น PEA Hive Platform การสั่งเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า การสำรวจเส้นทางและการจราจร ระบบการซื้อขายผ่านออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนามากขึ้น เช่น นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต รถพลังงานไฟฟ้า (EV Car) การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (DATA Center and CLOUD Technology) เป็นต้น

เครื่องจักรในงานวิศวกรรมแห่งชาติ

ภายในงานแบ่งเป็นโซนต่างๆ 4 โซน ได้แก่

  1. โซนสัมมนาวิชาการ
  2. โซนพื้นที่จัดกิจกรรมการแข่งขันเทคโนโลยีวิศวกรรม
  3. โซนคลินิกช่าง
  4. โซนจัดแสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีวิศวกรรม

ไฮไลท์ที่น่าสนใจของงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561

การเปลี่ยนบ้านธรรมดาให้เป็นบ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Home ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิตอลและการสื่อสารมาควบคุมระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ผ่าน Smart Devices คำสั่งเสียง หรือท่าทางการโบกมือ ซึ่งมีบริษัททั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมนำผลิตภัณฑ์มาร่วมจัดแสดงภายในงาน อาทิ

ยานยนต์ไฟฟ้า EV
CU TOYOTA Ha:mo ภายใต้แนวคิด Harmonious Mobility Network
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “PEA Hive Platform” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระบบบริหารและจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับบ้านพักอาศัย เพื่อเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการบริหารจัดการการใช้พลังงานภายในบ้านพักอาศัยและอาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • บริษัท ดิจิตอล โฟกัสผู้จำหน่ายอุปกรณ์ / ซอฟต์แวร์ ระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร ที่ปีนี้นำแว่นตา VR 3 มิติ รุ่น DGF VR ที่แสดงผลให้เห็นชัด เสมือนจริง ไม่มีสะดุด และสามารถเล่นวิดีโอเป็นระบบพาโนรามาได้ และพิเศษปีนี้ได้นำอุปกรณ์เครื่องบินโดรนเอ็นเตอร์ไพร์ส ที่ได้ร่วมไปปฏิบัติการพิเศษ บินสำรวจโพรงถ้ำ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนจากร่างกายมนุษย์ ในภารกิจช่วยน้องๆ ทีมหมูป่าที่ถ้ำเขาหลวง ขุนน้ำนางนอน มาร่วมโชว์ภายในงานด้วย
  • รถยนต์ไฟฟ้านอกจากจะมีค่ายรถนำรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งที่เป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซส์ และรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก นำมาโชว์และให้สอบถามรายละเอียดภายในงานแล้ว ยังมีการนำรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ในโครงการ “ซียู โตโยต้า ฮา:โม” มาให้ผู้ที่สนใจได้ทดลองขับภายในงานอีกด้วย
  • การประปานครหลวงได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมสำหรับการตรวจสอบสภาพท่อ หาตำแหน่งจุดแตกรั่ว โดยการใช้หุ่นยนต์เข้าไปสำรวจในท่อประปาแทน  ในชื่อโครงการ หุ่นยนต์สำรวจภายในท่อประปาไกรทอง ซึ่ง ไกรทองสามารถช่วยให้การประปานครหลวง สามารถลดการสูญเสียน้ำในจุดงานที่หาตำแหน่งรั่วได้ยาก นอกจากนี้ ยังมีชุดอุปกรณ์วิเคราะห์เสียงน้ำรั่วแบบพกพา ให้ศึกษาและสอบถามรายละเอียดได้
  • บูธ ปตท.ได้นำเครื่องช่วยเดิน “Brain Machine Interaction System” สำหรับผู้ที่เป็นอัมพฤต อัมพาต ได้ฝึกการเดิน โดยมีระบบสั่งการแบบ Real Time จากสมอง โดยปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คาดว่าไม่เกิน 3-5 ปีนี้ จะมีการนำเครื่องนี้ไปอยู่ในแผนกกายภาพตามโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนี้ ทาง ปตท. ยังได้นำนวัตกรรมโดรน MPIO ที่ใช้สำหรับการสำรวจปล่องไฟและท่อแก๊สทางอากาศ และเครื่องสำรวจทางน้ำ AUV มาให้ยลโฉมภายในงาน
  • บูธSCG กับนวัตกรรมระบบผนังมวลเบาเสริมโครงเหล็ก
  • บูธคลินิกช่างบริการให้คำปรึกษา “ฟรี” ปัญหาเรื่องบ้าน บ้านทรุด บ้านร้าว และปัญหาทางวิศวกรรมต่างๆ โดยวิศวกรอาสาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา

คลินิกช่างงานวิศวกรรม

About The Author