GCI 4.0

Global Competitiveness Index 4.0: เข็มทิศเศรษฐกิจใหม่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (1)

ท่ามกลางเศรษฐกิจอันเปราะบาง สังคมแยกขั้วแบ่งข้าง โลกาภิวัตน์ถูกตั้งคำถาม ความเหลื่อมล้ำขยายลุกลาม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วจนตามแทบไม่ทัน  หนทางใหม่สู่ความมั่งคั่งและรุ่งเรืองคืออะไร?

 

นี่คือคำถามสำคัญที่ศาสตราจารย์ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) และทีมงานต้องการแสวงหาคำตอบภายใต้กระบวนการจัดทำรายงานขีดความสามารถในการแข่งขันโลกในปี 2018 (The Global Competitiveness Report 2018) – รายงานฉบับที่ 40 ปีพอดิบพอดี นับจากการเผยแพร่รายงานฉบับแรกในปี 1979 จนกลายเป็น ‘ซีรีส์’ ที่กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมทั่วโลกต้องติดตาม

เมื่อโลกเปลี่ยน โจทย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจเปลี่ยน ดัชนีที่ใช้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันก็ยิ่งต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เพื่อเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์และความท้าทายในโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จบ

GCI 4.0
ที่มา: WEF. The Global Competitiveness Report 2018, 2018.

แล้วคำตอบรูปธรรมของ WEF ก็ปรากฏผ่าน ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index 4.0 หรือ GCI 4.0)  – ‘เข็มทิศ’ นำทางประชาคมโลก เครื่องมือใหม่ที่ช่วยให้เราเข้าใจพลวัตและรายละเอียดเชิงลึกของเศรษฐกิจในโลกใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า WEF เป็นสมาคมของชนชั้นนำโลก (global elites club) ที่แคบและจำกัด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา เสียงของ Schwab และคณะผู้เชี่ยวชาญของ WEF มีส่วนในการกำหนดข้อถกเถียง วิธีคิด และวาระทางเศรษฐกิจของโลกอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีทำความเข้าใจโลกของคนกลุ่มนี้จึงมีความแหลมคมและเต็มไปด้วยความน่าสนใจยิ่ง

GCI 4.0 สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร และจะส่งผลชี้นำ-ขับเคลื่อนโลกไปทางไหน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม || แก่นความหมายของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศปรับเปลี่ยนไปอย่างไรในโลกยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 || การยกระดับประเทศให้เท่าทันโลกและพร้อมรับมืออนาคตต้องทำอย่างไร

ในสายตาของทีมนักคิดด้านเศรษฐกิจการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก มีคำตอบอะไรให้เราชวนคิดต่อบ้าง

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 : ไอเดียเบื้องหลังของ GCI 4.0

อันที่จริง WEF เริ่มมีแนวคิดในการสร้าง GCI 4.0 มาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว หลังจากที่มีการปรับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในปี 2004 โดยมีแรงผลักดันเบื้องหลังคือ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ (The Fourth Industrial Revolution) ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่ Schwab ใช้อธิบายปรากฏการณ์การเกิดขึ้นและผลกระทบของคลื่นเทคโนโลยีใหม่ อาทิ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ นาโนเทคโนโลยี ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ไบโอเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) เครื่องพิมพ์สามมิติ รถยนต์ไร้คนขับ ฯลฯ

การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วในสังคมสมัยใหม่ แต่การเลือกใช้คำว่า ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ บ่งบอกว่า คลื่นเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้จะส่งผลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต วิถีการทำงาน และความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้คนในระดับรากฐาน

ในหนังสือเรื่อง The Fourth Industrial Revolution ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2016 แม้ Schwab จะฉายภาพความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างละเอียด แต่ข้อสรุปสุดท้ายที่เขาบอกคือ การเปลี่ยนผ่านที่มนุษย์กำลังเผชิญ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทั้งในแง่ขนาดและความซับซ้อน และยังไม่มีใครรู้ว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางใด

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จึงแตกต่างจากครั้งก่อนหน้า?

เมื่อไล่เรียงดูประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้ง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตในลักษณะที่แตกต่างกันไป

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 คือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต จากแรงงานสัตว์และคน มาเป็นการใช้พลังงานของเครื่องจักรไอน้ำ และทำให้เกิด ‘การเติบโตทางเศรษฐกิจสมัยใหม่’ (modern economic growth) ขึ้นเป็นครั้งแรก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 คือ การนำไฟฟ้าและพลังงานสันดาปจากเครื่องยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตจนทำให้เกิดการผลิตจำนวนมาก (mass production)

ส่วน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโลกที่เรามองเห็น ทำความเข้าใจได้ และจินตนาการออก อย่างน้อยก็ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

แม้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เกิดขึ้นบนฐานของการปฏิวัติดิจิทัล (ซึ่งเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3) แต่สิ่งที่ต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญคือ การหลอมรวมของเทคโนโลยีจะทำให้เส้นแบ่งทางกายภาพ (physical) ดิจิทัล (digital) และชีวภาพ (biological) พร่าเลือนไป ทุกกิจกรรมของมนุษย์จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความมั่นคง ธุรกิจ การบริหารราชการ ความสัมพันธ์ทางสังคม ความเป็นส่วนตัว ชีวิตคู่ ฯลฯ

ถึงที่สุดแล้ว เทคโนโลยีจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่ว่า ‘เราทำอะไร’ แต่เปลี่ยนถึงขนาดว่า ‘เราคือใคร’

ทั้งหมดนี้ทำให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและผลกระทบเกิดขึ้นแบบเอ็กโพเนนเชียล ไม่ใช่แบบเส้นตรง ดังนั้นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ คำถามใหม่ ยาก และท้าทายจำนวนมากที่มนุษย์ต้องขบคิดและถกเถียงร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของการเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อรับมือกับ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ คือ ความเร่งด่วน

ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 มนุษย์มีเวลากว่าศตวรรษในการรับมือความเปลี่ยนแปลง และมีเวลาหลายสิบปีสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2  ในขณะที่มีเวลาราว 10-20 ปีเพื่อรับมือกับผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 แต่สำหรับครั้งที่ 4 นี้ มนุษย์มีเวลาปรับตัวน้อยมาก ทั้งที่ผลกระทบรุนแรงมหาศาล สำหรับ Schwab กรอบระยะเวลา 5-10 ปี อาจสายเกินไปเสียด้วยซ้ำ

ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ยิ่งแหลมคมมากขึ้น เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่ว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางอย่างมาก นับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินโลก 2008 แม้จะผ่านมา 10 ปีแล้วก็ตาม ในแง่นี้ Schwab มองว่า ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องถอดบทเรียนจากวิกฤตการณ์การเงินที่ผ่านมา และนำบทเรียนนั้นมาออกแบบเศรษฐกิจใหม่ให้มีความยืดหยุ่น (resilience) และมีกันชน (buffer) ที่จะรับมือกับ ‘ช็อก’ ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่ก็ได้

ในกรอบใหญ่ ผู้กำหนดนโยบายจากทั่วโลกต่างรู้ดีอยู่แล้วว่า ประเทศของตนต้องการระบบการศึกษาที่มีพลวัต ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น ระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ พลังงานที่สะอาด เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม ฯลฯ แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือ เราจะเดินไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร

GCI 4.0 จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็น ‘เข็มทิศ’ นำทางให้กับชุมชนผู้กำหนดนโยบาย โดย WEF เชื่อว่า ประสบการณ์จากการทำดัชนี GCI เดิม ที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานในการวัดขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศมาเนิ่นนาน เมื่อผนวกกับข้อมูลเชิงลึกและมุมมองสดใหม่ของคณะทำงานกว่า 120 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จะทำให้ GCI 4.0 เป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถในแข่งขันที่ตอบโจทย์แห่งอนาคตได้จริง

 

ที่มา: https://www.the101.world/futurising-thailand/

สมคิด พุทธศรี – บรรณาธิการ The101.world และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง 101

 

About The Author