10 เทคโนโลยีน่าจับตาปี 2562 I 10 Technologies to Watch

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดอันดับเทคโนโลยีน่าจับตามาตลอดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2553 ศตวรรษที่ 21 นี้ หากนับเป็น Cycle Time รอบของความก้าวหน้าเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างรวดเร็วจนใครที่ช้าไปเพียงนิดเดียวก็อาจโดนข้อหาเชย หรือ ตกยุคกันแล้ว

จากระยะเวลาเป็น 100 ปีกว่าที่เราจะเปลี่ยนจากการใช้ม้ามาใช้รถยนต์ 50 ปีต่อมาเราสร้างจรวด 30 ปีเรามีอินเทอร์เน็ต 20 ปีเรามีรถไฟฟ้า 10 ปีเรามี Smart Phone 5 ปีเรามี 5G และกำลังจะมี 6G ตามมาติดๆ ภายในระยะเวลา cycle time ที่หดลงเรื่อยๆ เราคิดค้นนวัตกรรมได้แทบทุกนาที แน่นอนว่ามีหลายเทคโนโลยีเกิดขึ้นแต่ล้มเลิกไป เพราะไม่อาจขยายไปใช้งานกับคนจำนวนมากได้ หรือมีต้นทุนสูงเกินไป ขณะที่เทคโนโลยีส่วนหนึ่งก็ประสบความสำเร็จและสร้างมูลค่าสูงในเวลาอันรวดเร็ว เช่นแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในโทรศัพท์มือถือที่สร้างมูลค่านับหมื่นล้านบาทในเวลาเพียงไม่กี่ปี

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีหลายแบบที่มีคู่แข่งที่ตั้งเป้าหมายเดียวกัน เช่น เทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่มีอยู่มากมาย ทั้งพลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ ไปจนถึงพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่มีเซลล์พลังงานหลากหลายรูปแบบ สวทช.คัดเลือกเทคโนโลยีที่น่าจับตามองมา 10 อย่างโดยตั้งเกณฑ์ว่า ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบ (Impact) ต่อสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 5-10 ปี

ดังนั้นปี พ.ศ. 2562 จึงถือว่าครบรอบทศวรรษการนำเสนอ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองของ สวทช.พอดี เป้าหมายหลักข้อหนึ่งคือ เป็นการให้ข้อมูลเพื่อการลงทุนกับผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนให้แก่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีอนาคตสดใสอีกทางหนึ่งด้วย

หากแบ่งเทคโนโลยีที่ สวทช. เคยนำเสนอไปแล้วจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  • สุขภาพและการแพทย์ ครอบคลุมทั้งอวัยวะเทียม วิธีการตรวจและรักษาแบบใหม่ๆ รวมไปถึงอาหารหรือสารเสริมจำเพาะที่ช่วยเรื่องสุขภาพหรือใช้กับผู้ป่วย
  • พลังงานรวมทั้งเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน ซึ่งมีทั้งแบตเตอรี่และตัวเก็บประจุ (Capacitor) แบบต่างๆ
  • วัสดุแปลกใหม่ชนิดต่างๆ ตั้งแต่ กราฟีน จีโอพอลิเมอร์ วัตถุซ่อมแซมตัวเองได้ อิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ ไปจนถึงเส้นใยฉลาด (Smart Textile) เป็นต้น
  • เทคโนโลยีด้าน ICT เช่น Internet of Things (IoT), Sermantic Web, Haptic Technology, Augmented Reality และ Cyber-Physical Technology

10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองปี 2562

5G Technology

01 เครือข่ายมือถือ 5G/6G (Mobile Network 5G/6G)

5G เร็วกว่า 4G 20 เท่า ใช้ได้แม้ในรถไฟความเร็วสูง ไม่มีปัญหาในบริเวณที่มีคนมาก เป็นแพลตฟอร์ม (Platform) เชื่อมโยงเทคโนโลยีต่างๆ ไว้ด้วยกัน เช่น AI, Big Data, Cloud และ IoT ส่วนระบบ 6G เพิ่งเริ่มวิจัย อาจรับส่งข้อมูลเร็วขึ้น 1,000 เท่า และใช้ช่วงคลื่นเทระเฮิร์ตซ์ (Tarahertz) เสริมด้วย

02 คำนวณและวิศวกรรมควอนตัม (Quantum Computing and Engineering)

บริษัทชั้นนำของโลกแข่งขันทำ Quantum Computer เกิดเซนเซอร์สมรรถนะสูง เช่น Quantum Gravity Sensor ใช้สำรวจธรณีวิทยาหรือค้นหาวัตถุใต้พื้นผิวสิ่งก่อสร้าง Quantum Optical Sensor ตรวจวัดสารเคมีหรือสิ่งมีชีวิตที่มีน้อยมากๆ และทำชิปในนาฬิกาอะตอม (Atomic Clock) ซึ่งรองรับ Transaction หรือคำสั่งซื้อในตลาดหลักทรัพย์ได้รวดเร็วมากๆ

AI_ปัญญาประดิษฐ์

03 เอไอแห่งอนาคต (Future Artificial Intelligence)

AI มีระบบ Machine Learning เลียนแบบเครือข่ายประสาทมนุษย์เรียกว่า Deep Neural Network ประมวลผลข้อมูลมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว AI ทำงานหลายอย่างดีกว่ามนุษย์ ใช้ช่วยงานได้ เช่น CheXNet วินิจฉัยโรคปอดบวมจากภาพเอกซเรย์แม่นยำกว่ารังสีแพทย์ AI อาจให้คำแนะนำการผ่าตัด ช่วยผ่าตัดแทนกรณีที่ต้องใช้เวลาผ่าตัดนาน หรือใช้ควบคุมการผ่าตัดทางไกล ไปจนถึงสามารถวินิจฉัยโรคร้ายแรงได้ภายในเวลาเพียงนาทีเดียว เป็นต้น

Mobility

04 การเดินทางแบบไร้รอยต่อ (Mobility-as-a-Service, MaaS)

AI ช่วยวางแผนเส้นทางการเดินทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด หรือประหยัดที่สุดให้ผู้ใช้บริการได้ ข้อมูลเป็นแบบเรียลไทม์ แอปพลิเคชันชื่อ City Mapper เปิดตัวในกรุงลอนดอน ปี ค.ศ.2011 ปัจจุบันมีใช้ใน 39 เมืองใหญ่ ข้อมูลเชื่อมขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ การให้บริการในอนาคตจะมีตัวเลือกมากขึ้น อาจมี Air-Taxi เพิ่มจากรถจักรยานหรือรถสกูตเตอร์ไฟฟ้าใช้สำหรับปลายทาง

Perovskite Solar Cell
Source: phys.org/

05 เซลล์แสงอาทิตย์เพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell)

ชื่อแปลกประหลาดที่มาจากชื่อแร่ธาตุพบครั้งแรกที่เทือกเขายูราลประเทศรัสเซีย เป็นเซลล์แสงอาทิตย์รุ่น 3 พิมพ์บนแผ่นฟิล์ม หรือพื้นผิวต่าง ๆ มีต้นทุนการผลิตต่ำ (50% ของเซลล์แบบซิลิคอน) มีประสิทธิภาพการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด คือจาก 4% เป็น 24% (ใกล้เคียงกับเซลล์แบบซิลิคอน) ในไม่กี่ทศวรรษ และยังพัฒนาต่อไปได้อีก เป็นเซลล์ที่มีน้ำหนักเบาและโค้งงอได้ไม่เสียหาย

06 แบตเตอรี่ลิเทียมยุคหน้า (Next Generation Lithium Ion Batteries)

ที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบันคือ ลิเทียมไอออน เพราะจุพลังงานได้มาก มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ และราคาต่อความจุต่ออายุการใช้งานต่ำ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแบบที่น่าสนใจ เช่น Solid-State Lithium Ion, Lithium-Sulfur และ Lithium-Air ที่ต่างก็ประจุพลังงานได้มากกว่า (สูงสุดอาจถึง 100 เท่า) แต่ยังต้องศึกษาเรื่องราคา อายุการใช้งาน ฯลฯ อีก

Exoskeleton Suit for Ford
Exoskeleton Technology Pilot (source: spectrum.ieee.org)

07 โครงเสริมภายนอกกาย (Exoskeleton)

เรียกได้ว่านี่คือ อุปรกรณ์เพิ่มความสามารถในการทำภารกิจ เพิ่มสมรรถภาพนักกีฬา ฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วย และยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือ ผู้สูงอายุ เช่น ชุด EskoVest ของคนงานโรงงานรถยนต์ Ford ชุด Chairless Chair ที่กางออกเป็นเก้าอี้ได้ และหุ่นยนต์ไซบอร์ก HAL ที่ใช้ฟื้นฟูผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยแล้ว

Microbial Multifunctional Fiber

08 ไฟเบอร์สารพัดประโยชน์จากจุลินทรีย์ (Microbial Multifunctional Fiber)

จุลินทรีย์ที่ผลิตเซลลูโลสได้ ใช้เติมในวุ้นมะพร้าว ไอศกรีม โปรตีนเกษตร ฯลฯ มีจุลินทรีย์ที่เปลี่ยนน้ำตาล Mannitol ให้กลายเป็น Biofilm ที่ใช้ทำผิวหนังเทียมได้ มีนักวิจัยพิมพ์จุลินทรีย์แบบ 3 มิติ เพื่อทำ Nanofilter ที่ใช้กรองสารพิษได้ และมีบริษัทที่ผลิตเสื้อผ้าโดยตั้งต้นจากของเหลือทิ้งอุตสาหกรรมและการเกษตรแล้วใสนออสเตรเลีย

09 กายจำลองทดสอบยา (Companion Diagnostics)

การเพาะเลี้ยง “อวัยวะเล็กๆ (Organoid)” เพื่อใช้ตรวจความเป็นพิษและศึกษาปฏิกิริยาของเซลล์กับสารออกฤทธิ์ จัดเป็นการแพทย์เฉพาะบุคคลแบบหนึ่ง มีบริษัทที่พัฒนาแพลตฟอร์ม Organ-on-a-Chip ที่รวมอวัยวะไว้มากถึง 10 อย่าง โดยใช้เซลล์ของผู้ป่วยมาสร้างเป็นสเต็มเซลล์ ก่อนเหนี่ยวนำด้วยสารเคมีให้กลายเป็นเซลล์และเนื้อเยื่อร่างกายแบบอื่นๆ ซึ่งเหมาะจะใช้ทดสอบการแพ้ยา

10 วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคล (Personalized Cancer Vaccine)

ใช้ชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) แยกความแตกต่างระหว่าง DNA ของเซลล์ปกติกับเซลล์มะเร็งของผู้ป่วย ก่อนจะนำมาออกแบบสร้างเป็นวัคซีนชนิดนีโอแอนติเจนวัคซีน (Neoantigen Vaccine) ซึ่งอาจจะเป็นสาย RNA หรือ DNA กระบวนการทั้งหมดใช้เวลา 6-8 สัปดาห์ ปัจจุบันมีการทดสอบในผู้ป่วยมากกว่า 500 คน ที่เป็นมะเร็งแบบต่างๆ มากกว่า 10 ชนิดในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา

 

อ้างอิง: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

About The Author