eco-friendly-149801_960_720

Automotive Summit 2019: อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยกับแนวโน้ม Smart Mobility

เรากำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค Smart Mobility กล่าวอย่างสั้น Smart Mobility คือโซลูชันสำหรับการเคลื่อนที่/การสัญจร หมายรวมถึงการโยกย้าย (คน สินค้าและผลิตภัณฑ์) การขับเคลื่อน (ยานยนต์) อย่างชาญฉลาด ด้วยความรวดเร็วผ่านเทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่เชื่อมโยงกันได้แบบทุกที่ทุกเวลา

แน่นอนว่ายานยนต์คือปัจจัยสำคัญของการเคลื่อนที่ การส่งเสริมยานยนต์สมัยใหม่เพื่อตอบโจทย์วิถี Smart Mobility จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จเชิงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อยานยนต์สมัยใหม่จึงเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0 การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนจึงทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนสำคัญ

สถาบันยานยนต์ ร่วมกับบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด จึงได้ร่วมกันจัดงานใหญ่ “Automotive Summit 2019” ภายใต้แนวคิด ”Smart Mobility Driving Tomorrow’s Society” ในงาน Manufacturing Expo ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายน 2562 ที่ไบเทค บางนา

Automotive Summit 2019
คุณสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ – รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ผู้จัดงาน Automotive Summit 2019 (ซ้าย) และคุณอดิศักดิ์ โรหิตะศุน – กรรมการสถาบันยานยนต์

ในงานแถลงข่าว ‘ปรับทัพอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย รับกระแส Smart Mobility สู่การผลิตแห่งอนาคต พร้อมเปิดตัว Automotive Summit 2019’ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. คุณอดิศักดิ์ โรหิตะศุน – กรรมการสถาบันยานยนต์ ได้กล่าวถึงการปรับตัวเพื่อพร้อมรับ Smart Mobility ค่ายรถต่างๆ ได้มีการเตรียมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อป้อนสู่ตลาด โดยปัจจุบันมีค่ายรถที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI รวม 9 ราย แบ่งออกเป็น รถไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) 4 ราย รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) 4 ราย และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) 1 ราย ทั้งหมดมีกำลังการผลิตรวมประมาณปีละ 500,000 คัน ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 54,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีค่ายรถยนต์ที่รอการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ หรือ BEV อีก 7 ราย และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีผู้ได้รับการส่งเสริมแล้ว 5 ราย คาดว่าจะเริ่มต้นทำการผลิตได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป อีกทั้งในปี 2561 ได้มีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วกว่า 400 แห่ง

EV world
จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสะสม (เครดิตภาพ: thaiauto.or.th)

สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่ปี 2560 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง มียอดผลิต EV ประเภทต่างๆ รวม 8,900 คัน เพิ่มเป็น 25,200 คันในปี 2561 และสำหรับปี 2562 นี้คาดว่ายอดการผลิตจะเติบโตถึง 36,000 คัน ส่วนในปี 2563 คาดว่ายอดผลิตจะมากกว่า 50,000 คัน!

ใน Thailand 4.0 รัฐบาลกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายขึ้นมาเรียกว่า S-Curve Industry หรือ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งออกเป็น 5 อุตสาหกรรม S-Curve แรกที่เรียกว่า First S-Curve และอีก 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเรียกว่า New S-Curve

First S-Curve หรือ อุตสาหกรรมเก่าที่ประเทศไทยมีศักยภาพและยังเป็นผู้นำอยู่ แต่ด้วย Digital Disruptive อาจจะทำให้เราตกกระป๋องได้อย่างทันทีทันใดหากไม่ปรับตัว

ยานยนต์สมัยใหม่ เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม First S-Curve 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ในอนาคตรถไฟฟ้าหรือ EV มาแน่เพราะมันคือ Future Vehicle หากเราไม่เตรียมการไว้ก่อน อุตสาหกรรมที่จ้างคนเป็นแสนๆ คนในประเทศเราจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงพยายามผลักดันให้ EV (Electric Vehicles) เกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งเรื่องของ Battery Technology เพราะว่ากุญแจสำคัญก็คือเรื่องนี้

แต่ก่อนอื่นเราทำมาทำความรู้จักรถไฟฟ้ากันก่อน ว่ามีอยู่กี่ประเภท อะไรบ้าง และแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร

EV4
(เครดิตภาพ: thaiauto.or.th)

Electric Vehicle หรือ EV ในปัจจุบันสามารถแบ่งตามเทคโนโลยีออกเป็น 4 ประเภท:

1.ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) เป็นยานยนต์ที่ใช้พลังงานผสมผสานระหว่างเชื้อเพลิงทั่วไป และพลังงานไฟฟ้าจากการแบตเตอรี่ ยานยนต์ประเภทนี้จะมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่าแบบใช้เครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว

HEV เป็นยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อน และสามารถแบ่งตามฟังก์ชันการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าได้ 3 ประเภท คือ Micro Hybrid (Start & Stop, S&S), Mild Hybrid (MHEV) และ Full Hybrid (FHEV)

2.ยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาต่อมาจากยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด ยานยนต์ประเภทนี้มีระบบน้ำมัน และไฟฟ้าเหมือนยานยนต์ไฮบริด แต่เพิ่มการเสียบปลั๊กชาร์จไฟ หรือ Plug-in ทำให้เมื่อเสียบชาร์จแล้ว สามารถวิ่งไปได้ในระยะทางที่มากกว่า ซึ่งแบตเตอรี่ที่ใช้ก็สามารถชาร์จไฟเพิ่มเพื่อกักเก็บประจุตามต้องการได้

ยานยนต์ไฟฟ้า แบบ PHEV มีการออกแบบอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ แบบ Extended range EV (EREV) และแบบ Blended PHEV โดย แบบ EREV จะเน้นการทำงานโดยใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักก่อน แต่แบบ Blended PHEV มีการทำงานผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์และไฟฟ้า ดังนั้น ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ EREV สามารถวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวมากกว่าแบบ Blended PHEV ความสามารถขับขี่โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวได้ระยะทางมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด แต่เนื่องจากแบตเตอรี่มีขนาดใหญ่ทำให้มีราคาสูงกว่ายานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด

3.ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 100% จึงไม่มีการปล่อยมลพิษทางอากาศ แต่มีข้อเสียอยู่ที่ระยะทางการวิ่งที่จำกัด โดยขึ้นกับขนาดของแบตเตอรี่และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
นวัตกรรมที่ใช้เพียงพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว 100% ในการขับเคลื่อน และสามารถชาร์จไฟได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อแบตเตอรี่หมด รถยนต์ไฟฟ้านี้จะมีองค์ประกอบหลักสำหรับการขับเคลื่อนคือ แบตเตอรี่ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า

และเนื่องจากมีความกังวลถึง ระยะทางใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์บางรายติดตั้งเครื่องยนต์ขนาดเล็กเพื่อเพิ่มระยะทางในการใช้งาน โดยเครื่องยนต์ดังกล่าวมีหน้าที่ปั่นไฟเพื่อประจุไฟฟ้าสู่แบตเตอรี่เพียงเท่านั้นโดยมีชื่อเรียกรถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้ว่า Range Extender Battery Electric Vehicle

4.ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle – FCEV) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนและใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell ) ซึ่งใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการเติมเชื้อเพลิงจากภายนอก โดยไม่มีการปล่อยมลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์โดยตรง มีเพียงการปลดปล่อยน้ำเท่านั้น ยานยนต์ชนิดนี้ใช้มอเตอร์เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเช่นเดียวกับยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ แต่แหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้านั้นต่างกัน เนื่องจาก FCEV กักเก็บพลังงานอยู่ในรูปของก๊าซไฮโดรเจน และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้า ก๊าซไฮโดรเจนจะถูกนำไปทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจนใน อากาศที่เซลล์เชื้อเพลิง เหตุที่ไม่ก่อมลพิษทางอากาศเนื่องจากเมื่อยานยนต์ใช้พลังงานจะปล่อยน้ำออกสู่บรรยากาศเท่านั้น ที่สำคัญ FCEV ยังอยู่ในขั้นการวิจัย ยังไม่ถูก ผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

EV thai

แนวโน้มเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต

ข้อมูลจาก ฝ่ายวิจัยนโยบาย สวทช. ระบุว่า สถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น ในปี พ.ศ. 2559 มีการจดทะเบียนรถใหม่ทั้งรถแบบผสม (Hybrid) และรถไฟฟ้ารวมกันทุกประเภทไม่ถึง 10,000 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการจดทะเบียนรถใหม่ทั้งหมดประมาณ 2.9 ล้านคัน ขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุ ทั่วประเทศยังมีจำนวนน้อยมาก แม้ว่าจะมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) ขึ้นแล้วในไทย แต่ยังมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่ผู้ผลิตอีกหลายรายให้ความสนใจ ลงทุนและอยู่ในช่วงศึกษาความพร้อมด้านต่างๆ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อตลาดในประเทศ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกอบการที่สำคัญที่จะได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสู่ยานยนต์ไฟฟ้า คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วน เนื่องจากเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องอาศัยชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกว่าชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ไทยมีความชำนาญและดำเนินการผลิตอยู่ในปัจจุบัน

การใช้จำนวนชิ้นส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้ามีประมาณ 5,000 ชิ้นต่อคัน ขณะที่ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ต้องใช้มากถึง 30,000 ชิ้น โดยเฉพาะกลุ่มระบบส่งกำลังหรือเครื่องยนต์ เช่น หม้อน้ำ ท่อไอเสีย ระบบหัวฉีด ถังน้ำมัน อาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ดังนั้น ความชัดเจนของนโยบายการส่งเสริมภาครัฐจึงมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

นายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กว่า 90% เป็นการผลิตชิ้นส่วนแบบเครื่องยนต์แบบสันดาปซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ยานยนต์ไฮบริดและยานยนต์สมัยใหม่ตามลำดับ ค่ายรถยนต์ต่างๆ พร้อมจะปรับเปลี่ยนโมเดลรถยนต์ไปตามแนวโน้มนี้ ผู้ประกอบการไทยมีการปรับตัวทางด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการผลิตและดีมานด์ที่จะเกิดขึ้นจากข้อมูลการนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนในไตรมาศแรกในปี 2561 มูลค่ากว่า174,000 ล้านบาทเปรียบเทียบกับปี 2562 มีมูลค่า 182,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 5%

พัฒนาการที่สำคัญอีกประการที่แสดงถึงความพร้อมในการรับมือของเราก็คือ มาตรฐานตู้ชาร์จและมาตรฐานแบตเตอรี่ ที่อยู่ในระหว่างการจัดทำ และที่อยู่ในระหว่างการพิจารณากำหนดมาตรฐานอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมยานยนต์สมัยใหม่ หนึ่งในสิ่งที่จัดทำอยู่ก็คือ การสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของอาเซียน ซึ่งมีการทดสอบสมรรถนะของแบตเตอรี่ ทดสอบความปลอดภัย และมีห้องนิรภัยที่สามารถรองรับการลุกไหม้ หรือการระเบิดของแบตเตอรี่จากการทดสอบได้อีกด้วย คาดว่าศูนย์ทดสอบนี้จะเปิดให้บริการในปี 2563

ME Banner

Automotive Summit 2019 จัดในวันที่ 19-20 มิถุนายน ณ ศูนย์ประชุมไบเทคสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อความสะดวกรวดเร็วได้ที่ www.manufacturing-expo.com โดยงานจัดร่วมกับ Manufacturing Expo 2019 ระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายน ลงทะเบียนครั้งเดียวสามารถชมงานได้ทุกวันทุกโซน

 

อ้างอิง: http://www.thaiauto.or.th/

 

About The Author