Olic

เปิดประตูโรงงานผลิตยา ผู้สร้างโอกาสสำคัญรับสังคมสูงอายุของเอเชีย

ยูบีเอ็มเอเชีย ประเทศไทย ผู้จัดงานซีพีเอชไอ 2019 (CPhI South East Asia 2019) ร่วมมือกับสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน จัดทริปศึกษาโรงงานผลิตยาชั้นนำของไทย เพื่อฉายภาพรวมความสำคัญของอุตสาหกรรมยาไทย และการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตยาแผนปัจจุบันชั้นนำของโลก เพื่อลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศ และเพิ่มความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้กับประชาชน สอดรับกับสังคมสูงอายุของไทยและเอเชีย ก่อนเริ่มจัดงานซีพีเอชไอ 2019 (CPhI South East Asia 2019) หรือ งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านส่วนผสมยาสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

CPHi

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ยาไทยในปัจจุบันเป็นไปในทิศทางบวกจากอัตราการเติบโตของตลาดที่มีตัวเลขประมาณ 4-7% ต่อปี และมีมูลค่าประมาณ 1.7 แสนล้านบาท จากปัจจัยการบริโภคภายในประเทศที่สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุ และการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ที่นำเข้ายาจากไทยเป็นหลัก โดยตลาดยาไทยมีมูลค่าและขนาดเป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ทว่าการผลิตยาของไทยยังคงเป็นการผลิตในขั้นตอนปลาย ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าส่วนผสมยาจากต่างประเทศ อาทิ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ดังนั้น การสนับสนุนให้ผู้ผลิตยาไทยใช้งานวิจัยเพื่อพัฒนายา ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เจอกับเจ้าของส่วนผสมยารายใหม่ ๆ จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยาไทยเกิดการพัฒนาและก้าวหน้ายิ่งขึ้น

“ผู้ผลิตยาไทยในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 150 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่มีความสามารถในการผลิตยาขั้นปลาย นั่นคือการผลิตยาแบบสำเร็จรูป กล่าวคือ ไทยนำเข้าวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นยามาจากต่างประเทศ แล้วดำเนินการผสมหรือผลิตในประเทศ จากนั้นจึงส่งออกขายเพื่อการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในอัตราส่วน 95:5 ของการผลิตทั้งหมด โดยการบริโภคภายในประเทศ จะเป็นการบริโภคผ่านโรงพยาบาลเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 80% ของการบริโภคในประเทศทั้งหมด ส่วนอีก 20% คือการบริโภคผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของร้านขายยา ที่มีอยู่มากกว่า 15,000 ร้าน ทั่วประเทศ ส่วนการส่งออก จะเน้นไปยังกลุ่ม CLMV ที่นำเข้ายาจากไทยเป็นหลัก เนื่องจากราคาที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ และจากการดูงานในครั้งนี้ จะพบว่าโรงงานผลิตยาชั้นนำของไทยบางแห่ง มีศักยภาพที่สามารถผลิตส่วนผสมยาเองได้ ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศแต่อย่างใด”

Phamar

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ

– อุปสรรคสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยาในบ้านเราคืออะไร

– การพัฒนาตนเองจากการผลิตขั้นปลายไปสู่การผลิตขั้นต้นนั้น ต้องใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีรวมไปถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นนั้น แนวโน้มที่เราจะไปถึงจุดนั้นเป็นอย่างไรในปัจจุบัน อัตตราส่วนของบริษัทผลิตยาที่สามารถทำได้มีมากน้อยเพียงใด

– เทคโนโลยีที่เราขาดแคลนหรือต้องการการสนับสนุนเป็นสำคัญจากภาครัฐหรือที่อื่นๆ มีอะไรบ้าง

– คำว่า ‘นวัตกรรม’ ในอุตสาหกรรมยาสามารถวัดได้จากอะไร

– กระบวนการเบื้องหลังยา 1 เม็ด?

olic

เราจะพยายามหาคำตอบต่อคำถามเหล่านี้มานำเสนอต่อไป พร้อมกับสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยาในบ้านเรา หนึ่งในปัจจัย 4 ที่อยู่เบื้องหลังทุกความสำเร็จของมนุษย์ ที่สำคัญก็คืออุตสาหกรรมยาคือหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในส่วนของ New S-Curve ด้วยความคาดหวังถึงการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub จากที่เราเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ผ่านบทความ “Edge of Automation: อุตสาหกรรมไทยในยุคอัตโนมัติ”

“ประเทศไทยทุกวันนี้เป็น Medical Hub แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เราเป็น Medical Hub for service คือมีโรงพยาบาลจำนวนมาก มีหมอที่เก่งจำนวนมาก เรามีเตียงจำนวนมาก ราคาโดยเฉลี่ยของเราถูกกว่าสิงคโปร์ประมาณกว่า 30% แต่ว่าเราไม่ต้องการแค่ Service เพราะการแพทย์ครบวงจรก็คือ เราจะต้องมีโรงงานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ซึ่งแพงมาก เราก็จะนำกลุ่มที่ทำชิ้นส่วนยานยนต์ Transform ให้ไปผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า และอีกอย่างก็คือการทำเรื่องอุตสาหกรรมยาครบวงจร เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีทั้งยา มีทั้งเครื่องมือแพทย์ และมีภาคบริการ จึงจะเรียกได้ว่า ครบวงจร”

ซีพีเอชไอ 2019 (CPhI South East Asia 2019) หรือ งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านส่วนผสมยาสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 เพื่อรองรับความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการเติบโตทางการตลาดและมีศักยภาพสูง จากกลุ่มประชากรทั้งหมดกว่า 560 ล้านคนที่เข้าถึงด้านการดูแลสุขภาพที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย นำไปสู่ความต้องการด้านยาที่เพิ่มขึ้นตาม อันก่อให้เกิดโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมเภสัชกรรมในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

About The Author