SakunC_รถบัสอลูมิเนียม

Light Weight Aluminum Bus – Sakun C มาจากไหน? ผลิตขึ้นอย่างไร?

หนึ่งในการปรับตัวของภาคเอกชน ก่อนผันตัวเข้าสู่สนามรถไฟฟ้าอย่างเต็มตัวของไทย หนึ่งแบรนด์ที่สร้างชื่อขึ้นก่อนใครๆ นาทีนี้ถึงเวลาของ Sakun C Innovation เจ้าของผลงานนวัตกรรมรถบัสไฟฟ้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแบบ Light weight จากวัสดุที่กำลังงอกงามในโลกของการผลิตน้ำหนักเบาระดับ Advance Material อย่างอลูมิเนียมที่มีทั้งความทนทานพอ ๆ เหล็กแต่มีน้ำหนักเบา ช่วยให้ประหยัดพลังงาน

เรามาสำรวจกันว่า รถไฟฟ้าสายพันธุ์ไทยนี้มาจากไหน มีที่มาอย่างไร เกิดขึ้นมาเมื่อ 3 ปีก่อนก็จริง แต่ก็มีที่มาจาก OEM บริษัทหนึ่งเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน

 

จากสถานะเป็นผู้รับจ้างผลิตในแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) ของกลุ่มบริษัท โชคนำชัย กรุ๊ป ที่มีประสบการณ์ในการผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนรถยนต์ทุกชิ้นส่วนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกมากกว่า 20 ปี จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีก่อน ทั้งจากความตั้งใจและจากโชคที่มาแบบไม่คาดคิด เมื่อมีบริษัทต่างชาติลืมทำชิ้นงานหนึ่งที่ต้องนำไปใช้ทั่วโลก ซึ่งโดยปกติต้องใช้เวลาผลิต 6-8 เดือน แต่ต้องผลิตให้ทันภายใน 2 เดือน และบริษัทก็สามารถทำได้จนสำเร็จจากการโหมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จนลูกค้าเห็นถึงความตั้งใจในระดับไม่ธรรมดา สามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงได้ แถมยังมีคุณภาพงานดีมา จึงส่งงานให้เรื่อย ๆ พร้อมกับมีลูกค้าจากค่ายรถยนต์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก

หลังจากที่บริษัทเริ่มมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในกลุ่มบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ มากขึ้น จนทำให้ต้องมีการขยายโรงงาน เพิ่มเครื่องจักร และเพิ่มจำนวนพนักงาน เพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนค่ายรถยนต์ ทั้ง Honda Nissan และ GM ต่างก็มีการนำแม่พิมพ์ต่างประเทศมาให้ทางบริษัทด้วย จึงทำให้มียอดส่งออกต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตามมา

จากจุดเปลี่ยนดังกล่าว กิจการจึงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันกลุ่มบริษัท โชคนำชัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านรถยนต์ประกอบด้วย 5 บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท โชคนำชัย ออโต้บอดี้ จำกัด บริษัท ซีเอ็นซี อินเตอร์เนชั่น ออโต้เท็คซ์ จำกัด บริษัท โชคนำชัย แมชชีนนิ่ง จำกัด บริษัท ซีเอ็นซี ดีเท็คซ์ จำกัด และบริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด

เทคโนโลยีที่โดดเด่นซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของธุรกิจ ได้แก่ การขึ้นรูปโลหะ (แม่พิมพ์) โดยใช้การออกแบบคอมพิวเตอร์ และด้วยโปรแกรมต่าง ๆ ที่ปัจจุบันใช้มุมมองแบบ 3D เต็มรูปแบบ ผสมผสานกับเทคนิคในการขึ้นรูปโลหะที่เป็น Advance Material และเหล็ก Super steel

รวมถึงสามารถพัฒนาการขึ้นรูปอลูมิเนียมที่เป็น High Strength Aluminum forming 5083 H116 spec นอกจากนี้ยังพัฒนาวัสดุอลูมิเนียมเพื่อทำให้มีความแข็งแรงใกล้เคียงและสามารถทดแทนโครงสร้างเดิมที่เป็นเหล็กได้ จึงสามารถนำไปพัฒนาและสร้างเป็น Innovation ในการผลิตเรือและรถโครงสร้างอลูมิเนียมแบบปั๊มขึ้นรูป ที่มีน้ำหนักเบา คงทนแข็งแรง ได้มาตรฐานสากล และสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศได้

 

SakunC Aluminum Bus
Source: www.busandtruckmedia.com

 

แจ้งเกิดแบรนด์ Sakun C

เมื่อ 3 ปีก่อน ที่การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง จึงเป็นประกายแรกที่จุดความคิดให้นำชัยเริ่มหาลู่ทางสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งทำให้สามารถสร้างแบรนด์ของบริษัท นำไปสู่การก่อตั้ง บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัดขึ้นเมื่อปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม โดยใช้วัสดุและเทคโนโลยีสมัยใหม่และนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเป้าหมาย คือยานพาหนะสมัยใหม่ (Modern Vehicle)

ความโดดเด่น

  • เรืออลูมิเนียม แทบไม่มีคู่แข่ง เพราะทำได้เร็วกว่า นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ยากและคนอื่นยังทำไม่ได้ และยังเป็นจุดที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักเราได้ดีที่สุด
  • การสร้าง Sakun C แสดงให้เห็นความสามารถของผู้ประกอบการไทย ว่าไปได้ไกลกว่าการเป็นเพียงบริษัทที่ได้รับแต่ค่าแรงเพียงอย่างเดียว แต่มีศักยภาพเพียงพอพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปสร้าง Innovation ตามมาตรฐานสากล
  • Sakun C ถือเป็นบริษัทที่รวมประสบการณ์ซึ่งถ่ายทอดจากบริษัทแม่อย่างกลุ่มบริษัทโชคนำชัย ทั้งในแง่การผลิต การออกแบบผลิตภัณที่มีความซับซ้อน ความรู้ในการขึ้นรูปโลหะ น้ำหนักเบาและทันสมัย ความเข้าใจกระบวนการผลิตต่าง ๆ รวมถึงระบบ Automation และฐาน Supply chain โดยยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เรืออลูมิเนียมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเริ่มมีลูกค้านำมาใช้งานจริงได้อย่างน้อย 3 ลำภายในสิ้นปีนี้

ที่มาของ ‘รถบัสอลูมิเนียม’ – พลังงานไฟฟ้า ดีกว่ารถทั่วไปอย่างไร ?

จากคำโฆษณา: SakunC รถบัสไฟฟ้าฝีมือคนไทย วิ่งฉิว ไร้เสียง ไม่แพ้ชาติใดในโลก รถบัสพลังงานไฟฟ้า 100% ขนาดความยาว 12 เมตร ตัวถังอลูมิเนียมพิเศษเกรดเดียวกับรถยนต์ซูเปอร์คาร์ ทำความเร็วได้ถึง 80 กม./ชม. จากค่าย SakunC ผลิตโดย บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด

เรามาทำความรู้จักรถคันนี้แบบนี้กันให้ดีขึ้นดีกว่า เพราะคำถามแรกที่คนมักสงสัยก็คือ

รถอลูมิเนียมแข็งแรงหรือไม่ ?

รถอลูมิเนียม จัดว่าเป็น Advance Material เพราะมีน้ำหนักเบา และแข็งแรง ทนทาน (ไม่ต้องห่วงเรื่องสนิม) แต่ที่ผ่านมาจะนิยมใช้อยู่ในโลกของซุปเปอร์คาร์เป็นส่วนใหญ่ เพราะอลูมิเนียมมีราคาแพงกว่าเหล็ก 3 เท่า ทำให้รถบัสทั่วไปไม่นิยมผลิตด้วยอลูมิเนียม เดิมการต่อรถโดยสารบ้านเรา ยังเป็นงานต่อเชื่อมหมด แต่ SAKUNC ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตตัวถังแบบปั๊มขึ้นรูปผสมผสานกับการฉีดขึ้นรูปทั้งคันตามมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทันสมัย เพื่อลดรอยต่อ เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร

Light Weight Aluminum Bus – โครงสร้างตัวถังอลูมิเนียมน้ำหนักเบา ทำให้ประหยัดน้ำมัน ทั้งแข็งแรงทนทาน มีความปลอดภัยสูง ไม่เป็นสนิม และไม่ผุ หลังคาไร้รอยต่อ น้ำไม่รั่วซึม พื้นท้องโดยสารจะเป็นชนิดไม่ลามไฟ สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตตัวถังแบบปั๊มขึ้นรูปอลูมิเนียมทั้งคัน ใช้หุ่นยนต์พ่นอบสีและเชื่อมประกอบแบบมาตรฐานสากล และควบคุมการผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีชั้นสูง

อลูมิเนียมที่ใช้มีค่าความแข็ง (Tensile)​ มากกว่าเหล็กตัวถังทั่วไป และมีค่าการยืดตัว (Elongation) ​ใกล้กับเหล็ก ความพิเศษคือ มีอะไหล่ชิ้นส่วน สามารถสั่งเปลี่ยน​ได้​เหมือน​รถ​บ้าน ซึ่งชิ้นส่วนขนาดใหญ่เช่นแผงข้าง สามารถสั่งเป็นชิ้นเล็กตามขนาดที่เสียหายได้เพื่อไปตัดต่อเฉพาะจุด ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งชื้น ด้านความแข็งแรงของตัวรถอลูมิเนียมได้มีการทดสอบในรูปแบบต่างๆเพื่อแสดงให้ถึง ความปลอดภัยและตามวิธีการทดสอบตามมาตรฐานสากล

 

Source: www.grboat.com

3 แนวทางในการประกอบรถคันนี้:

ยึดตาม 3S ได้แก่:

  1. Standard คือ มาตรฐานการผลิตโดยแม่พิมพ์ พร้อมเชื่อมประกอบโดยหุ่นยนต์
  2. Safety จากวัสดุสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นใหม่ เป็นอลูมิเนียมที่แข็งแรงมากกว่าเหล็กตัวถังรถทั่วไป ใช้การเชื่อมสปอตและกาวแรงดึงสูงในการประกอบ รวมถึงการทดสอบ 4 รูปแบบ ร่วมกับกรมขนส่งทางบก, ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. และสถาบันยานยนต์ ตั้งแต่การทำ Pre Rollover test, Full Rollover test, Body Impact test และ field test ในสภาวะการขับขี่ลักษณะต่าง ๆ
  3. Save จากการที่มีน้ำหนักเบากว่า 15-40% จะทำให้อัตราการกินน้ำมันสิ้นเปลืองน้อยที่สุด และส่งผลให้มีค่าซ่อมบำรุงน้อยตามไปด้วย

SakunC มีทีมงานวิจัยและพัฒนางานเชิงนวัตกรรมทั้งในส่วนของเรืออลูมิเนียม และรถโดยสารประจำทาง โดยมีบริษัทโชคนำชัย กรุ๊ป ที่มีประสบการณ์ในการผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนรถยนต์ทุกชิ้นส่วนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกมากกว่า 20 ปี ขณะเดียวกันยังมีการออกแบบ ผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนที่ใช้กับเรือ และรถมินิบัสอลูมิเนียม รวมถึงยังมีความพร้อมในด้านการซ่อมบำรุงและด้านบุคลากร

เครื่องจักรขนาดใหญ่ได้แก่ CNC Machines, Press Machine ขนาด 2,700 ตัน, Laser Cutting Machine รวมทั้งสิ้นมากกว่า 50 เครื่อง ส่งผลให้ SakunC มีศักยภาพสูงในการผลิตและประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ให้มีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน และสามารถทดสอบเพื่อการแก้ไขปรับปรุง ให้รถโดยสารไฟฟ้าดัดแปลงที่พัฒนาจากรถโดยสารประจำทางสามารถใช้งานได้ตามเงื่อนไขและตามมาตรฐานที่ภาคีเครือข่ายพัฒนาการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าไทยประกาศกำหนด

 

พบกับรถบัสอลูมิเนียม SakunC ได้ที่งาน METALEX 2020 วันที่ 18-21 พ.ย. นี้ ที่ไบเทค บางนา 

ลงทะเบียนชมงานล่วงหน้า: https://bit.ly/20FBpre


อ้างอิง:

thansettakij.com

techsauce.co

Sakun C Innovation

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

ครั้งแรกของโลกกับเทคโนโลยีเครื่องจักรกลโลหะการใหม่ล่าสุด ใน “งานเมทัลเล็กซ์ 2020”

Metalex 2020 “SHAPING A BRIGHTER TOMORROW” | ถึงเวลาขึ้นรูปอนาคตวันพรุ่งนี้ให้ดีขึ้นไปด้วยกัน

 

About The Author