trade-war

Trade War กับความแข็งแกร่งของอาเซียน

ภูมิภาคอาเซียนแข็งแกร่งพอที่จะรองรับกับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นข้างนอกได้มากน้อยแค่ไหน แล้วบ้านเราพร้อมรับมือแค่ไหน

MEexperience 2019

ในเวทีเสวนาเปิดงาน MEexperience 2019 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ห้องภิรัช ฮอลล์ ไบเทค บางนา หัวข้อ “จับทิศทางการลงทุนพลิกโอกาสสมรภูมิการค้าโลก” ในมุมมองของผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามข้างต้นว่า

ถ้าจะถามว่าความแข็งแกร่งรองรับได้ขนาดไหน ก็ต้องถามว่าแล้วแรงกระทบจากข้างนอกแรงขนาดไหน เราต้องสนใจแรงที่กระทบจากข้างนอกก่อน ไม่ว่าจะเป็นบารัก โอบามา ไม่ว่าจะเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ นโยบายที่ฝ่ายความมั่นคงของอเมริกามองมาตั้งแต่การเปลี่ยนโลกสู่ทศวรรษที่ 2010 แล้วคือเรื่องของประเด็นทางด้านความมั่นคงซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดของสหรัฐอเมริกา ก็คือเรื่องของการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนทำให้อเมริกาต้อง Containment ก็คือ ปิดล้อม จำกัดสิทธิ ปิดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน แน่นอนในรูปแบบของโอบามาก็คือ ใช้ความเป็นอเมริกาเข้าไปจัดระเบียบโลก แล้วก็ต้องการปิดล้อมจีนด้วยการวางกฎระเบียบต่างๆ ผ่านเวทีที่คุ้นชิน เช่น การเริ่มต้นข้อตกลงทางการค้า ที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP อีกด้านหนึ่งก็คือ Transatlantic Trade and Investment Partnership หรือ T-TIP ตรงนี้คือการวางกรอบกติกาเพื่อปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน แต่แน่นอนว่า วิธีนี้ไม่ใช่วิธีของทรัมป์ เพราะว่าทรัมป์เป็นนักธุรกิจ การที่จะมากำหนดกรอบกำหนดกติกาแล้วปล่อยให้เล่นตามเกม เป็นไปตามที่คนคิดกรอบกับคนที่เป็นกรรมการแล้วก็เป็นผู้เล่นในกติกาด้วยมันช้าเกินไป สิ่งที่ทรัมป์ต้องการเพราะทรัมป์เป็นนักธุรกิจก็คือต้องการทันที ดังนั้น เค้าไม่สนใจ T-TIP เค้าไม่สนใจ TPP สิ่งที่ทรัมป์ทำคือ ทำสงครามการค้าโดยตรง ก็คือการขึ้นกำแพงภาษีกับจีนไปเลย

เพราะฉะนั้นสงครามการค้าไม่ใช่ข่าวดี การเลื่อนกำหนดการขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของจีนมูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากวันที่ 1 มีนาคมนี้ออกไปก่อนไม่ใช่ข่าวดี เพราะว่าเลื่อนไม่ได้บอกว่าเลิก สถานะการณ์ไม่ได้ดีขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีตไม่ได้มีการเยียวยาใดๆ  เศรษฐกิจไทยที่โตต่อเนื่องทางด้านการส่งออก ต่อเนื่องมา 20 กว่าไตรมาศ มันแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่ามันติดลบ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าภัยจากข้างนอกยังรุนแรงอยู่ ในขณะเดียวกันจีนเอง (เริ่มจาก Subprime crisisในปี 2007-2008) จีนได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ไปตรงๆ ในเรื่องของตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีนนั่นก็คือ สหรัฐอเมริกากับยุโรป มันสูญเสียกำลังซื้อ เพราะฉะนั้นจีนก็ต้องทำนโยบายขึ้นมาใหม่ สิ่งที่จีนทำออกมาอยู่ในสองรูปแบบ รูปแบบแรกก็คือนโยบายที่เรียกว่า “Made in China 2025″ มีการส่งเสริมเพื่อทำให้มีการเข้าไปลงทุนในจีน แล้วยกระดับคำว่า Made in China ให้กลายเป็น Brand Name ไม่ใช่ Made in China แล้วคือของปลอมตลอดเวลา และแน่นอนว่าในการนี้จีนก็ต้องการการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน แล้วก็มองว่าในปี 2025 อะไรก็ตามที่เป็นแบรนด์เนมที่ผลิตในจีน ต้องใช้ส่วนประกอบในจีน 70% ตรงนี้ก็คือการตอบโต้ทางการค้า

อีกสิ่งที่จีนทำก็คือหาคู่ค้าใหม่ๆ เราก็เลยได้ยินเรื่องของ One belt, one road เข้ามาในมหาสมุทรแปซิฟิก เข้ามาที่ช่องแคบมะละกา เข้าไปที่มหาสมุทรอินเดีย การขยายอิทธิพลของจีนก็เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้ทั่วโลกก็เลยต้องปิดล้อมจีนมากยิ่งขึ้น เราเห็นญี่ปุ่น เราเห็นอินเดีย เราเห็นออสเตรเลีย เราเห็นอเมริกา รวมกลุ่มกันเข้ามา pay attention ในเรื่องอิทธิพลของจีนภายใต้นโยบายที่เรียกว่า indo pacific เพราะฉะนั้นประเทศไทยเราเองในอาเซียนจึงเป็นจุดกึ่งกลางของยุทธศาสตร์ ไทยเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างอาเซียนบนบกกับอาเซียนในน้ำ อาเซียนเองเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มหาอำนาจกำลังให้ความสนใจอย่างยิ่ง อาเซียนเองก็ถือว่ามีความแข็งแกร่งมากทีเดียว เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาเราได้ชื่อว่าเป็น Emerging Economy โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เรามีทรัพยากรแรงงาน เราอยู่ในจุดที่เป็นเส้นทางการค้า ตรงนี้กลายเป็นจุดแข็งของอาเซียน แต่จุดแข็งนี้มันยากที่จะคงอยู่ หลายๆ คนมองว่า 2019 – 2020 จะเกิด Emerging Market Crisis

เพราะว่าประเทศที่เปิดประเทศมานานอย่างเช่น เวียดนามในปี 1986 มันมีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงปี 1995 แต่หลังจากนั้นการปฏิรูปเศรษฐกิจในเวียดนามไม่ได้มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ถ้าในอนาคตเวียดนามยังไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจ Emerging Economy Crisis ก็อาจเป็นตัวฉุดที่ทำให้โครงสร้างของอาเซียนในโลกเกิดการสูญเสีย

——————————————————————————————————————-

CLMV: อัตราการเจริญเติบโตของทั้ง 4 ประเทศอยู่ในระดับที่สูงกว่า 6% อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆ ปี แต่ในปี 2019-2020 ที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายกำลังวิตกกับวิกฤติตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Crisis:  EM Crisis) ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2018 ความสุ่มเสี่ยงที่ประเทศเหล่านี้จะพบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายหลังจากขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องยาวนานอาจจะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อมีตัวเร่งที่สำคัญคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทั้งประเทศในห่วงโซ่อุปทานและเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศในกลุ่มนี้ ความน่ากลัวของ EM Crisis สำหรับประเทศกลุ่ม CLMV ก็คือ CLMV ล้วนเป็นประเทศที่เพิ่งจะเปิดเข้าสู่ตลาดโลกได้ไม่นาน ภาวะพึ่งพาต่อสหรัฐฯและจีนอยู่ในระดับสูง

ดังนั้นเมื่อค้าขายกับทั้ง 2 ประเทศนี้ได้ลดลง และเศรษฐกิจภายในประเทศเองก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก ประกอบกับการเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้ระดับกลางรายใหม่ๆ ที่เพิ่งจะพ้นจากการเป็นประเทศยากจน การกระจายรายได้ค่อนข้างไม่เป็นธรรม ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มธุรกิจไม่กี่กลุ่มและผู้คนไม่กี่ครอบครัว ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติ คนยากจนในประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและไม่มีระบบสวัสดิการสังคมมารองรับ ดังนั้นคณะทำงานภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียนคงต้องทำงานอย่างหนักและเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้

 

What’s TPP ?

ข้อตกลงเขตการค้าเสรีทรานส์แปซิฟิก (ทีพีพี) ครอบคลุมราว 40% ของเศรษฐกิจโลก ก่อให้เกิดหุ้นส่วนความร่วมมืออย่างกว้างขวาง มีการลงนามในข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในหลายทศวรรษ โดยหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ได้ลงนามในข้อตกลงตัดอัตราภาษีศุลกากร และตั้งมาตรฐานร่วมในการค้าสำหรับ 12 ประเทศสมาชิก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม

การลงนามในข้อตกลงดังกล่าวซึ่งครอบคลุมราว 40% ของเศรษฐกิจโลก เกิดขึ้นหลังการเจรจาเป็นเวลา 5 วันที่แอตแลนตาในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการสิ้นสุดการเจรจาที่ตึงเครียดและขมขื่นที่เกิดบ่อยครั้งตลอดห้าปีที่ผ่านมา

ผู้สนับสนุนเห็นว่าข้อตกลงนี้จะก่อให้เกิดผลประโยชน์หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐกับประเทศสมาชิกขณะที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์เห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการตกลงกันในที่ลับและโน้มเอียงผลประโยชน์ให้กับบริษัทต่างๆ

About The Author