COVID-19 affecting the environment

7 สิ่งพลิกฟื้นคืนสภาพแวดล้อม ‘เซฟเรา-เซฟโลก’

ในท่ามกลางมรสุมข่าวร้ายจากไวรัสโควิด-19 ในอีกด้านหนึ่งก็มีข่าวดีอย่างไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น เมื่อปัญหาที่มนุษย์เคยรวมหัวกันขบคิดแทบเป็นแทบตายเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันกลับทุเลาเบาบางลง จนแทบจะพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับโลกได้ในอีกทางหนึ่ง

Corona virus effect

เมื่อมีคนจำนวนมากติดอยู่ที่บ้านเพราะไวรัสระบาด เมื่อพฤติกรรมการทำงาน การใช้ชีวิตถูกต้องถูกจำกัดอยู่ในที่แคบ ๆ จากมนุษย์ที่เคยมีกิจกรรม-กิจการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากมายมหาศาล มาวันนี้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อมนุษย์จำนวนหนึ่งยุติบทบาทในการบริโภคลง

COVID-19 ทำให้การค้าโลกหยุดชะงัก เที่ยวบินถูกยกเลิก และคนจำนวนมากต้องทำงานอยู่บ้าน ไม่ก็ถูกกักตัวอยู่ที่ไหนสักแห่ง ชีวิตอย่างที่เราเคยเป็นอยู่มาเปลี่ยนไปจากเดิมจนหมดสิ้น

แต่มันก็ยังมีผลในเชิงบวกที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วยในทางหนึ่ง และนี่คือผลจากการที่ผู้บริโภคอันดับสูงสุดที่ปลายยอดปิรามิดยุติกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมกันหยุดภัยการระบาดทั่วโลกของไวรัสมรณะโควิด-19

แล้วการระบาดของ coronavirus มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

เราจะได้เห็นว่าเกิดผลดีต่อสภาพแวดล้อมทั่วไปอย่างไม่น่าเชื่อในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยสามารถตรวจสอบได้ใน interactive map จาก Earther ที่ได้สำรวจการเปลี่ยนแปลงของมลพิษทางอากาศไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นแต่จากทั่วโลก

แผนที่ที่ว่านี้ทำงานบน Google Earth Engine และใช้ Data ที่รวบรวมโดยดาวเทียม Sentinel-5P ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป (European Space Agency)

ต่อไปนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการระบาดของ Coronavirus หรือ COVID-19 ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อม แม้จะยังไม่มีข้อสรุป ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่เป็นไปตามลำดับโดยเฉพาะเจาะจงแต่ประการใด

7 Ways the Coronavirus Is Affecting the Environment

1. มลพิษทางอากาศในประเทศจีนลดลง

หนึ่งในผลพวงหลัก ๆ จากการระบาดของ coronavirus ก็คือการลดลงของมลพิษทางอากาศในหลาย ๆ ส่วนของโลก เห็นได้ชัดเจนที่สุดในประเทศอุตสาหกรรม เช่น จีนและยุโรป นั่นก็เพราะกิจกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมจำนวนมากถูกปิดตัวลงเรื่อยมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

จากภาพถ่ายผ่านดาวเทียมของ NASA และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) นั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่านี่คือ “การทดลองในสเกลที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา” โดยข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel-5P ของ ESA ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการลดลงของก๊าซที่ก่อมลพิษเช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)

ไนโตรเจนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ผลิตโดยเครื่องยนต์จากรถยนต์ โรงไฟฟ้า และกระบวนการอุตสาหกรรมอื่น ๆ เชื่อกันว่าเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด จุดที่มลพิษลดลงกว้างใหญ่ที่สุดเห็นได้ชัดเจนที่ หวู่ฮั่น ภาคกลางของจีน นั่นเพราะเมืองนี้ถูกปิดอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือนมกราคม

ผู้อยู่อาศัย 11 ล้านคนส่วนใหญ่ถูกกักตัวอยู่ในบ้าน จากนั้นอุตสาหกรรมรวมถึงการเดินทางก็หยุดชะงักทันที ส่งผลให้การปล่อยก๊าซลดลง 10-30% ในช่วงเวลานั้น

effect in Venice

2. น้ำในคลองเวนิสใสสะอาดขึ้นอีกครั้ง

ผลพวงที่ไม่คาดคิดอีกประการต่อสภาพแวดล้อมจาก coronavirus นั้นเกิดขึ้นที่เวนิสประเทศอิตาลี ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงทำให้น้ำในคลองสายต่างๆ ของเวนิสนั้นสะอาดกว่าครั้งใดๆ เท่าที่เคยเป็นมา

ด้วยสิ่งต่าง ๆ เช่น เรือยนต์ ตัวการที่ทำให้เกิดการปั่นตะกอนและมลพิษทางน้ำอื่น ๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเวนิส แม้แต่ชาวเวนิสเองก็ยังประหลาดใจกับความใสของน้ำ

ยิ่งกว่านั้นก็ยังสามารถเห็นปลาได้อีกครั้งในลำคลองสายต่างๆ

Streets of New York

3. อากาศในนิวยอร์กก็สะอาดขึ้นเช่นกัน

ด้วยผู้คนจำนวนมากทั่วโลกที่แยกตัวเองออกมาโดยความสมัครใจหรือทำตามคำสั่งอย่างเป็นทางการ ทำให้เมืองใหญ่ ๆ บางแห่งนอกประเทศจีนมีคุณภาพอากาศดีขึ้น ตัวอย่างหนึ่งคือ นิวยอร์ก

นักวิจัยพบว่ามลพิษทางอากาศลดลง 5-10% เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ในนิวยอร์ก รวมถึงการปล่อยก๊าซมีเทนก็ลดลงเช่นกัน

ระดับการจราจรในภูมิภาคก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกันถึง 35% ส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ก็ลดลงในพื้นที่บางแห่งถึง 50%

COVID-19 Effect_Airplane
source: pixabay

4.  มลพิษในอากาศลดลงเมื่อเครื่องบินไม่อยู่บนฟ้า

ผลกระทบที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ การลดลงของการเดินทางทางอากาศ เมืองหลายแห่งในยุโรปที่การจราจรยุ่งเหยิงกลับลดลงอย่างฮวบฮาบ ส่งผลให้คุณภาพอากาศดีขึ้นและมลพิษลดลงอย่างเห็นได้ชัดในท้องฟ้าเหนือหลายประเทศทั่วโลก บางแห่งในภูมิภาคมีจำนวนผู้โดยสารลดลงถึง 67 ล้านคนในช่วงสามเดือนแรกของปี 2020 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบินและผู้กำหนดนโยบายยังคงพยายามหาคำตอบกันว่ามันจะแย่ลงอีกแค่ไหนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

สายการบินหลายแห่งยกเลิกเที่ยวบินมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายเส้นทาง เมื่อไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลก ด้วยเหตุผลนี้ IATA จึงได้คาดการณ์ไว้ว่า อุตสาหกรรมการบินอาจขาดทุนได้ถึง 113,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้

coal combustion
source: pixabay

5. มลพิษจากการเผาไหม้ถ่านหินกำลังลดลงในประเทศจีน

การใช้ถ่านหินลดลงอย่างมาก ทำให้ปริมาณมลพิษในอากาศจากคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และไนตรัสออกไซด์ลดลงอย่างมาก

ปัจจุบันจีนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้บริโภคถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก มีประมาณการว่าจีนใช้พลังงานจากถ่านหินราว 59% จากความต้องการพลังงานทั้งหมดในปี 2561 ถ่านหินช่วยให้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ดำเนินอยู่ได้และยังใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงในประเทศสำหรับพลเมือง

แต่จากวิกฤติการณ์นี้ส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงรายใหญ่ของจีนมีการบริโภคลดลง 36% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมปีนี้ อ้างอิงข้อมูลจาก CREA analysis of WIND data

6. การใช้พลังงานในบ้านเพิ่มขึ้นแต่การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ลดลง

เนื่องจากผู้คนจำนวนมากทั่วโลกต้องกักตัวเองหรือถูกกักตัวอยู่ในเคหะสถาน โปรไฟล์การใช้พลังงานในอาคารจึงพลิกผัน คาดการณ์กันว่าเมื่อผู้คนทำงานกันที่บ้านมากขึ้น การบริโภคพลังงานในบ้านจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ว่าการบริโภคภายในบ้านเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 6% ถึง 8% ในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ในทางกลับกันหากมีคนน้อยลงในอาคารที่ทำงานหรืออาคารเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ หรือตามสถานศึกษา การใช้พลังงานจะลดลงถึง 30% ในไตรมาสนี้

กลายเป็นว่าวิกฤตินี้ได้ช่วยประหยัดพลังงานไม่ว่าจะอย่างไร บวกลบคูณหารแล้ว แม้ในบ้านจะเพิ่มขึ้นการใช้พลังงานโดยรวมก็ยังลดลงอยู่ดี นอกจากนี้ก็ยังเป็นผลจากการลดการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษในโรงไฟฟ้าเมื่อความต้องการใช้พลังงานลดลง

Coronavirus-environment
Source: they did it!/Wikimedia Commons

7. บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีสกันเสียที

และในที่สุดผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งก็อ้างได้ว่าประเทศต่าง ๆ อาจบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  หรือ  Paris Climate Accord goals เนื่องจากวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ เมื่อภาคต่างๆ เช่น การขนส่งและการผลิตหยุดชะงัก การปล่อยก๊าซที่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือกิจกรรมเหล่านี้ก็ลดลงเช่นกัน

และสิ่งเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบสามารถบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศปารีสปี 2015 อย่างไม่ได้ตั้งใจ “coronavirus กำลังพาให้เราไปสู่การลดการปล่อยก๊าซได้ตามเป้าหมายตามข้อตกลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศเช่นข้อตกลงที่ปารีส ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดทำให้เราต้องลดการปล่อยก๊าซที่เราไม่สามารถทำได้ในภาวะปกติ” Huseyin Toros แห่ง Istanbul Technical University

และล่าสุดก็มีรายงานผลการศึกษาจากทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากแคนาดา สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ว่าช่องโหว่ในชั้นโอโซนของบรรยากาศโลกยังคงมีแนวโน้มจะปิดแคบลงเรื่อย ๆ และมีการฟื้นคืนสภาพมากพอ จนเริ่มส่งผลดีต่อระบบภูมิอากาศของโลกโดยรวม การหนาตัวขึ้นของชั้นโอโซนที่เคยได้รับความเสียหาย ทำให้กระแสลมกรดซีกโลกใต้ (Southern Jet Stream) พัดกลับคืนสู่ทิศทางที่ควรจะเป็น จนหลายภูมิภาคในซีกโลกใต้ไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงบ่อยครั้งเหมือนเดิม

เรียกว่าในข่าวร้ายก็ยังพอมีข่าวดีให้กับโลกมนุษย์ของเราอยู่บ้างค่ะ

พอให้เราหายใจลึกๆ กันได้บ้างในช่วงเวลานี้

อ้างอิง:

www.interestingengineering.com

https://www.bbc.com/thai/international-52068333

About The Author