Circular_Economy_Toolmakers

Circular Economy: เศรษฐกิจหมุนเวียน กับ “ขยะที่ไม่ใช่ขยะ” (1)

เริ่มต้นจากคำถาม ใครผลิตขยะมากที่สุด ประเทศไหนสร้างมลพิษสูงสุด ใครปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศสูงสุด ประเทศใดตระหนักเรื่องสภาพแวดล้อมมากที่สุด แต่สุดท้ายอาจกลับมาสู่คำถามว่า ทำได้แค่ไหน จริงหรือเปล่า หรือแค่คำโฆษณา


สหภาพยุโรปมีการจัดอันดับประเทศที่เป็น CE (Circular Economy) สูงสุด โดยวัดจากดัชนี 7 ประการ

วันนี้เรามาเริ่มต้นสำรวจ Movement สำคัญ ๆ ของกลุ่มธุรกิจใหญ่ของโลก ในกระบวนการจัดการกับ “ขยะที่ไม่ใช่ขยะ” แต่คือพลาสติกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า PET หรือ Polyethylene terephthalate พลาสติกที่อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน

รู้ไหมว่า?

เดิมที PET เป็นของเหลวที่เป็นผลผลิตมาจากน้ำมันดิบ หรือก๊าซธรรมชาติมาผ่านกระบวนการกลั่นพอลิเมอไรเซชัน (Polymerization) สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น ขวดน้ำดื่ม กล่องใส่อาหาร ไปจนถึงใช้ในการทำเส้นใยทอเสื้อผ้า

แล้วเรารู้หรือไม่ว่า PET สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% และหลอมเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ไม่รู้จบ

ตุลาคมปีก่อนสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยและกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในประเทศไทย ร่วมกับ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้ประกาศความร่วมมือ เพื่อผลักดันให้มีการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic) เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อปลดล็อคกฎหมายที่ยังห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เชื่อว่าหากดำเนินการสำเร็จ จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก และยังสอดคล้องกับนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของทั้งสามองค์กร

สิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือ การร่วมกันสร้างความเข้าใจถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ทันสมัยซึ่งทำให้พลาสติกรีไซเคิลมีความสะอาดและปลอดภัย พร้อมเร่งให้ข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นกับภาครัฐ เพื่อให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด

ด้านดีต่อธุรกิจก็คือ ช่วยลดต้นทุน จากการใช้พลาสติกใหม่ หรือ Virgin Plastic ไม่เพียงเท่านั้นหากยังสอดคล้องกับเทรนด์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตของโลกในปัจจุบันที่กำลังผลักดันตัวเองเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy มากขึ้นทุกขณะ

ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy (CE) ผลิตภัณฑ์จะมีอายุการใช้งานนานที่สุดและเมื่อถึงเวลาต้องทิ้ง ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะถูกนำไปรีไซเคิลและนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ เช่นนี้แล้ว การตรวจวัดจึงสามารถตรวจสอบได้ในทุก ๆ ขั้นตอนของการบริโภคและหลังการบริโภค

ลด ละ เลิก Single-Use Plastic

สหภาพยุโรปเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากอเมริกา การแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งทั่วยุโรปจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไปได้กว่า 2.23 แสนล้านยูโรภายในปี 2030 รวมทั้งเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ถึง 3.4 ล้านตันภายในปี 2030

ภายใต้มาตรการนี้ ประเทศสมาชิกจะต้องกำหนดเป้าหมายระดับประเทศในการลดการใช้ภาชนะพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร บังคับให้อุตสาหกรรมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ และส่งเสริมให้มีระบบมัดจำขวดเพื่อทำให้อัตราการรีไซเคิลเพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 90% ภายในปี 2025

หวังว่านี่จะเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญให้เกิดการขยับตามของประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอาเซียน + จีน ซึ่งเป็นผู้สร้างขยะพลาสติกสูงสุดในโลก

นี่จึงเป็นทั้งเทรนด์และทางรอดของโลกในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (อุตสาหกรรม 4.0) ที่การขุดและเผาทรัพยากรในโลกไปใช้อย่างไร้ทิศทาง นำไปสู่ waste กำลังจะสิ้นสุดลง เพราะอีกไม่นานโลกก็จะไม่มีอะไรให้ขุดและเผาอีกต่อไป สิ่งที่เราจะทำได้ต่อไปในอนาคตอันใกล้ก็คือ นำเอาวัตถุ สิ่งของ เครื่องใช้ สินค้า ฯลฯ ที่ผลิตขึ้นมาแล้วทั้งหมดวนกลับมาใช้อีกในรูปแบบอื่น เป็นไปได้ทั้งการเพิ่มมูลค่า ไม่ก็ลดมูลค่าแต่ก็ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แทนที่การทิ้งให้กลายเป็นขยะ ก่อนถูกนำไปกำจัดหรือถูกเผาไปอย่างไร้ค่า แต่ก่อนจะถึงวันนั้น สิ่งที่เราพอจะทำได้ในวันนี้ ก่อนที่จะมีใครกล่าวซ้ำคำที่ Benjamin Franklin เคยว่าไว้

“เมื่อบ่อน้ำแห้งนั่นแหละเราถึงจะรู้คุณค่าของน้ำ”

คือการตระหนักในคุณค่าของการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูงสุด (Design Thinking) ทั้งกระบวนการก่อนและหลังการผลิตในบรรดากลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรมการผลิต รวมไปถึงรัฐบาลผู้กำกับนโยบายและผู้บริโภค

แต่ทุกอย่างที่ว่าต้องคุยกันด้วยสถิติและผลงานที่ทำได้จริง

7_Index for Circular
ดัชนีชี้วัด 7 ประการที่ถูกนำมาชี้วัด 28 ประเทศในสหภาพยุโรป ถึงประสิทธิผลในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนของแต่ละประเทศ เช่น ค่าเฉลี่ยการผลิตขยะของประชากรต่อคนต่อปี ปริมาณขยะและเศษอาหารที่ถูกผลิต จำนวนขยะที่ถูกนำมารีไซเคิล และจำนวนวัสดุรีไซเคิลที่ถูกนำกลับมาใช้จริง

PET เกี่ยวอะไร

เมื่อรู้จัก PET เราก็ได้รู้ว่า ขวด PET ซึ่งเป็นภาชนะพสาสติกแบบใสบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้สามารถแปรรูปไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นได้อีกเมื่อหน้าที่ครั้งแรกของมันสิ้นสุดลง กระบวนการนี้จะนำพลาสติก PET ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 7 ของพลาสติกที่มีใช้อยู่ทั้งหมดมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกที่พร้อมนำมาหลอมเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ รวมถึงกลับมาเป็นภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้อีกครั้งด้วย

มีใครรู้บ้างว่า PET เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกลายเป็น rPET (Recycled PET) สามารถแปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้อีกเช่น เสื้อยืด เสื้อกันหนาว โอเวอร์โคท เสื่อโยคะ เป้ รองเท้า ฯลฯ

แบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์รวมถึงโคคาโคลา วางกลยุทธ์สำคัญในเรื่องนี้ทั้งในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์และนโยบายหลังการขายที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “World Without Waste” ถึงขนาดมีการกำหนดให้บรรจุภัณฑ์ต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 แปลได้ว่าส่งน้ำอัดลมหรือน้ำดื่มไปขายเท่าไหร่ก็ต้องเก็บขวดกลับมาได้เท่านั้น รวมไปถึงการลงทุนมหาศาลในการติดตั้งเครื่องจักรที่ทันสมัยจนทำให้สามารถใช้ขวด PET ชนิดพิเศษซึ่งลดปริมาณพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์แบบเดิมลงได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์มาตั้งแต่ปี 2555 และพร้อมกับการปรับเปลี่ยนครั้งนั้น โคคาโคลาก็ได้เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดไปพร้อมกันด้วย

ทำไมเราไม่สามารถนำ rPET กลับมาบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมายในขณะนั้นเป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าว บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทยจึงต้องผลิตขึ้นจากพลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastic) ทั้งหมด ซึ่งทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้ตื่นตัวถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการผลิตและใช้ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในไทยกันมากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปัจจุบัน ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”

Plastic bag Iceberg
ภาพปกที่โด่งดังเปรี้ยงปร้างอีกปกของ National Geographic ที่ทำให้พลาสติกเป็นเหมือนผู้ร้ายอีกครั้ง (แม้ต่อมาภาพนี้จะถูกศิลปินคนหนึ่งออกมาโวยวายว่าขโมยไอเดียมาจากอีกภาพทางขวาซึ่งเป็นภาพโฆษนาเมื่อปี 2015) เครดิตภาพ: http://www.trademarkandcopyrightlawblog.com

ทำไมต้องเปลี่ยนไปสู่ Circular Economy

จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงด้านอุปทาน ทำให้หลายประเทศเชื่อว่า Circular Economy จะสามารถแก้วิกฤตการขาดแคลนทรัพยากรที่กำลังเกิดขึ้นได้

ญี่ปุ่น เริ่มใช้ The Promotion of Effective Utilization of Resources Law เมื่อปี 2000 ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการจัดการของเสีย โดยมีขยะจากการผลิตและบริโภค ที่ไม่ได้นำกลับไปใช้ใหม่เพียง 5% !! ความสำเร็จของญี่ปุ่นมาจากการที่รัฐบาลสร้างรากฐานการจัดการของเสียอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การทำให้การแยกขยะเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับผู้บริโภค การเก็บค่าจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ตอนซื้อ และการบังคับให้เอกชนเป็นเจ้าของร่วมในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการจัดการของเสีย

เยอรมนี เริ่มใช้ The German Closed Substance Cycle and Waste Management Act เมื่อปี 1996 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมด้าน Circular Economy Policy ในช่วงปี 2000 ทำให้เยอรมนีสามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ใหม่ได้ถึง 14% และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 200,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 4 หมื่นล้านยูโร ในปี 2016

แคมเปญ polluter pays: ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย!

หลักการ  “polluter pays”  หรือ “ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย” จะถูกขยายผลไปยังผู้ผลิตอวนเพื่อให้ บริษัทต่างๆ (ซึ่งไม่ใช่ลูกเรือประมง) จ่ายค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมกรณีอวนของตนเกิดสูญไปในทะเล

Frans Timmermans รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปผู้เป็นหัวหอกในการวางแผนกล่าวว่า

“วันนี้เราได้ดำเนินการขั้นตอนสำคัญในการลดขยะและขยะพลาสติกในมหาสมุทรและทะเลของเรา เราได้ลงมือทำ เราสามารถทำได้ ยุโรปกำลังสร้างมาตรฐานใหม่และยังมีความทะเยอทะยานปูทางไปสู่ส่วนที่เหลือของโลก”

ทุกปีชาวยุโรปผลิตขยะพลาสติก 25 ล้านตัน แต่ปริมาณที่ถูกรวบรวมนำไปรีไซเคิลมีน้อยกว่า 30% ในขณะที่ขยะที่ทิ้งลงทะเลมากกว่า 80% เป็นขยะพลาสติก!

ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศมากกว่า 185,000 ตัน และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ถูกจัดเก็บ และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนขวดพลาสติกที่เหลือเกือบ 1 แสนตันต้องถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็เล็ดรอดออกสู่ทะเลกลายเป็นขยะทางทะเล ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างในระดับโลก

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

The Last Straw: พลาสติกฟอรัม 2019 กับแนวโน้มเศรษฐกิจหมุนเวียน

Why Circular: กรุงเทพฯ ในยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน

About The Author