Circular Supplies

เทรนด์วัสดุทดแทน (Circular Supplies) กับงานออกแบบ

วัสดุทดแทน (Circular Supplies) ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน  (Circular Economy) และกำลังสั่นสะเทือนตลาดวัสดุทั่วโลก ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านโครงสร้างทางชีวภาพ (Biological Technologies) เช่น Bio-Energy หรือ Bio-Based Materials มาใช้ในการพัฒนาวัสดุทดแทนที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ช่วยให้ธุรกิจลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล การผลิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตและลดของเสีย และการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต จึงมีบทบาทในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันโมเดลธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว

หนึ่งในวัสดุที่เข้ามาเปลี่ยนภาพลักษณ์ของวัสดุรีไซเคิลด้วยการออกแบบ คือ BioMarble ของ Hannah Elisabeth Jones เป็นแผ่นวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพซึ่งทำจากขยะกระดาษรีไซเคิล และกำลังอยู่ในขั้นตอนการจดสิทธิบัตร เศษกระดาษจะถูกนำไปแปรสภาพให้เป็นวัสดุอ่อนตัว และมีลวดลายบนพื้นผิวที่เป็นเอกลักษณ์ กระบวนการเริ่มต้นจากการนำเศษกระดาษมารวมกับส่วนผสมที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพซึ่งเป็นสูตรเฉพาะ เพื่อทำเป็นเยื่อสำหรับผลิตกระดาษ จากนั้นนำไปย้อมสีแล้วจึงทำผิวละเอียดเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ขนาดแผ่นใหญ่ที่สุดได้ถึง 15 x 12 นิ้ว สามารถตัดเป็นแผ่นรูปเรขาคณิต เย็บต่อกันใหม่ และสร้างเป็นโครงสร้างถักแบบสามมิติที่มีขนาดใหญ่ได้ถึง 138 x 138 นิ้ว โดยใช้เทคนิคการปะผ้า วัสดุนี้มีหลายสีให้เลือก ทั้งยังสามารถกำหนดสีพิเศษได้ตามต้องการ เหมาะสำหรับใช้ในงานสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน เช่น วัสดุปูผนังหรือบรรจุภัณฑ์

อีกหนึ่งแนวโน้มที่บ่งชี้ว่าการใช้วัสดุชีวภาพเพื่อทดแทนพลาสติกได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือ Mogu Home บริษัทที่หันมาพัฒนาวัสดุชีวภาพสำหรับงานออกแบบ โดยบริษัทได้คิดค้นแผ่นคอมโพสิตความหนาแน่นปานกลางจากใยเห็ดราที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 100 เปอร์เซ็นต์สำหรับใช้งานภายในอาคาร อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจแบบครบวงจร วัสดุนี้ทำจากเส้นใยพืชในสัดส่วนเฉลี่ย 80 เปอร์เซ็นต์ (ผลพลอยได้จากห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งด้านการผลิตสิ่งทอและอาหาร) และกลุ่มใยรา (Mycelium) 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นโพลิเมอร์ชีวภาพที่พบในส่วนรากของเห็ดรา ปลูกและเติบโตในกระบวนการแบบธรรมชาติโดยการเพาะเห็ดบนต้นพืช เห็ดราเหล่านี้จะกินเซลลูโลสในต้นพืชแล้วเติบโตขึ้นทั้งภายในและโดยรอบวัสดุปลูก อุดช่องว่างและแผ่โครงสร้างทางอินทรีย์เพื่อเชื่อมโยงเข้าหากัน ใยราเหล่านี้จึงทำหน้าที่เป็นสารยึดเกาะ (กาว) ให้กับวัสดุฐาน และทำให้เกิดวัสดุชีวภาพชนิดใหม่ขึ้น หลังจากที่เพาะได้แล้วจะนำไปทำให้แห้งและผ่านแรงอัดภายใต้ความร้อนสูง วัสดุจึงมีน้ำหนักเบามากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันในท้องตลาด โดยมีคุณสมบัติยืดหยุ่นและดูดซับเสียงที่ดีเยี่ยม รวมทั้งมีความทนทานต่อแรงเชิงกลและความร้อนที่มีอยู่ตามธรรมชาติของวัสดุ ทำให้สามารถแปรรูปคอมโพสิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น แผ่นปูพื้นยืดหยุ่น หรือผนังเก็บความร้อนที่มีประสิทธิภาพ สามารถสั่งผลิตในขนาด รูปร่าง ผิวสัมผัส สีสัน ความหนา และคุณลักษณะต่างๆ ได้ตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน มีจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ป้อนให้แก่ตลาดเป้าหมายต่างๆ

Circular Supplies)

โมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ถูกกล่าวถึงและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่มาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริม Circular Economy ก็เริ่มถูกนำมาใช้แล้วเช่นกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่ารูปแบบธุรกิจและเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนไปพร้อมกับการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ที่มา:
hannahelisabethdesign.co.uk
mogu.bio

เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข นิตยสารคิด

https://www.creativethailand.org/article/innovation/29537/Circular-Supplies

 

About The Author