ทำไมต้อง Circular Economy ทางรอดของมนุษย์ในยุค Anthropocene (ตอนที่ 2)

กลับมาหาความยั่งยืน

“We don’t have plan B because there is no planet B!” Ban Ki-moon, Former Secretary General United Nation

จริงอย่างที่อดีตเลขาธิการสหประชาชาติระหว่างปี 2007-2016 บัน คี มูน กล่าวไว้ “เราไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง!” แนวคิดที่ว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าโลกใบนี้อีกแล้วนั้น ได้นำไปสู่การพัฒนาเป้าหมายร่วมกันของโลก (Global Goals) เพื่อเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาให้หันกลับมาเน้นในเรื่องของความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในวันที่ 25 สิงหาคม 2015  สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีตัวแทนจาก 193 ประเทศได้ให้การรับรองรายงานสำคัญ “Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development” ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ไว้ 17 เป้าหมายใหญ่ตั้งแต่ประเด็น ความยากจน (SDG1) ความหิวโหย (SDG2) สุขภาวะ (SDG3) การศึกษา (SDG4) ความเท่าเทียมทางเพศ (SDG5) น้ำสะอาด (SDG6) พลังงานหมุนเวียน (SDG7) การงานและเศรษฐกิจที่เหมาะสม (SDG8) นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (SDG9) การลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10) ไปจนถึง เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG11) การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ (SDG12) การแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ (SDG13) การอนุรักษ์ป่าไม้ (SDG14) การคุ้มครองท้องทะเล (SDG15) สันติภาพ (SDG16) และ ความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (SDG17) โดยมีเป้าหมายรองที่เกี่ยวข้องอีกทั้งหมด 169 หัวข้อ

ภายในเวลาไม่นาน SDGs กลายเป็นฉันทามติร่วมกันของประเทศเกือบทุกประเทศทั่วโลก และช่วยให้ฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายพัฒนาหันมาพูดภาษาเดียวกันก็ว่าได้ คือไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน เราก็ควรร่วมมือกันผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สำคัญ ไม่ลำพังรัฐบาลเท่านั้นที่ใช้ SDGs ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ SDGs ได้กลายเป็นมาตรวัดความก้าวหน้าที่สำคัญของภาคธุรกิจเอกชนด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทขนาดใหญ่ต่างนำเอา SDGs มาใช้กำหนดทิศทางงานด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงการประเมินความสำเร็จของโครงการต่างๆ

ในปี 2015 ยังมีงานวิจัยสำคัญระดับโลกอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ใน Science วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เรื่องขยะพลาสติกจากบกสู่ทะเล (Plastic waste inputs from land into the ocean) โดย ดร.เจนนา เจมเบก (Jenna Jambeck) แห่งวิทยาลัยวิศวกรรม มหาวิทยาลัยจอร์เจีย ซึ่งนับเป็นงานวิจัยแรกที่มีการคำนวณปริมาณขยะพลาสติกที่หลุดรอดจากบนบกสู่ทะเลในระดับโลก งานวิจัยดังกล่าวเปิดเผยว่าทุกปีมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นมากถึง 275 ล้านตันและในจำนวนนี้ได้หลุดรอดลงสู่ทะเลระหว่าง 4.8 ล้านตันถึง 12.7 ล้านตัน หรือโดยเฉลี่ยมากกว่า 8 ล้านตันต่อปี ขยะเหล่านี้ย่อยสลายยากและหมุนเวียนอยู่ในทะเลหลายร้อยปี

นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีนกทะเลกว่าร้อยชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลกว่า 30 ชนิดกินพลาสติกจนเป็นอันตรายถึงชีวิต โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UN Environment) ประเมินว่าแต่ละปี ขยะพลาสติกสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศทางทะเลทั่วโลกถึงปีละ 2.8 แสนล้านบาท

เมื่อกระแสความยั่งยืนและวิกฤตการณ์ด้านขยะทะเลกลายเป็นความสนใจร่วมกันของคนทั้งโลก จึงไม่แปลกใจที่แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนได้รับการชูโรงว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้มนุษยชาติบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาทรัพยากรขาดแคลนและขยะล้นโลกไปด้วยในคราวเดียวกัน

UN
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

เปลี่ยนเส้นตรงให้เป็นวงกลม

เมื่อพลังงานและวัตถุดิบเป็นปัจจัยจำกัด และการถดถอยทางเศรษฐกิจไม่ใช่ทางเลือก เศรษฐกิจแนวใหม่ที่ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียน มีประสิทธิภาพจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อเปลี่ยนระบบผลิตทางตรง (Linear: Make-Use-Dispose) เป็นระบบผลิตแบบหมุนเวียน (Circular: Make-Use-Return) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาพรวม

เศรษฐกิจหมุนเวียนยังเน้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพื่อสร้างต้นทุนด้านสังคม เศรษฐกิจและธรรมชาติอย่างเข้มแข็ง โดยอาศัยหลักการสามด้านได้แก่ 1) การออกแบบที่ปราศจากขยะและมลภาวะ 2) รักษาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบให้ใช้ได้นานที่สุด และ 3) ฟื้นฟูระบบนิเวศธรรมชาติ โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนยังเน้นความสำคัญของการทำงานร่วมกันในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก องค์กรหรือตัวบุคคล ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น

ในแง่นี้เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงไม่ใช่แค่การลดผลกระทบของระบบผลิตแบบทางตรง แต่เป็นการเปลี่ยนกระบวนการทัศน์เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว ที่จะส่งผลบวกแก่สิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม

คงจะเป็นการยากที่จะชี้ชัดว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่และใครเป็นผู้ค้นคิด เพราะแนวความคิดแบบวงกลม หรือการหมุนวนเป็นวงจรมีรากลึกในทางประวัติศาสตร์และปรัชญาหลายสำนัก หากสังเกตสิ่งต่างๆในธรรมชาติจะพบว่าแทบทุกสิ่งล้วนหมุนเวียนเป็นวัฏจักร เป็นวงรอบ ถ่ายทอด เปลี่ยนผ่าน สอดประสานกันอย่างลงตัว ของเสียจากสิ่งหนึ่งกลายเป็นอาหารให้กับอีกสิ่งหนึ่ง แร่ธาตุและพลังงานถูกถ่ายทอดและหมุนวนกลับมาใช้ได้ใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 นับเป็นช่วงเวลาเบ่งบานของสำนักคิดโดดเด่นหลายแห่งที่เริ่มนำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นPerformance Economy ของ สถาปกนิก วอลเตอร์ สตาเฮล (Walter Stahel) ที่นำเสนอวิสัยทัศน์ของ Economy in Loops เศรษฐกิจวงจรปิดที่เน้นการยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ การประหยัดทรัพยากร และลดการเกิดของเสียจากการผลิต

Circular
©Unsplash/Cristian Newman

Industrial Ecology ซึ่งเป็นการศึกษาการเคลื่อนย้ายวัสดุและพลังงานในระบบการผลิตอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตแบบวงจรปิด นำเอาของเหลือจากการผลิตมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ Natural Capitalism ที่ให้ความสำคัญของต้นทุนธรรมชาติ ได้แก่ น้ำ ดิน อากาศและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดทั้งมวล โดยเน้นการปฏิวัติการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น พัฒนาระบบการผลิตวงจรปิดเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด รวมไปถึงการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายเป็นบริการ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

อีกแนวคิดสำคัญที่นับว่าเป็นเบ้าหลอมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในปัจจุบันก็ว่าได้ ก็คือกระบวนทัศน์แบบ “จากอู่สู่อู่” (Cradle to Cradle) ของสองคู่หู ไมเคิล บรอนการ์ต (Michael Braungart) นักเคมีชาวเยอรมัน กับ วิลเลียม แม็กโดโน (William McDonaugh) สถาปนิกชาวอเมริกัน ทั้งสองชี้ว่าลำพังการทำธุรกิจตามหลัก 3R คือ Reduce (ลด) Reuse (นำกลับมาใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาแปรรูปใหม่) นั้นไม่เพียงพอ เพราะรากปัญหาของการพัฒนาแบบล้างผลาญตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่ที่โมเดลการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองขนานนามว่าเป็นแบบ “Cradle-to-Grave” (“จากอู่สู่สุสาน”) ซึ่งหมายถึงเริ่มต้นด้วยการตักตวงทรัพยากรจากแหล่งกำเนิด (Cradle) แล้วไปจบที่สู่สุสานขยะกองโต (Grave)

โมเดลการผลิตแบบ “อู่สู่อู่” มองวัสดุและวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมทั้งหมดเป็นเหมือนกับสารอาหารและแร่ธาตุ โดยแบ่งออกเป็นกลไกทางชีวภาพ (biological metabolism) สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป เช่น อาหาร แชมพู สบู่ และกลไกทางเทคนิค (technical metabolism) สำหรับสินค้าอื่น ๆที่ใช้แล้วไม่หมดไป เช่น รถยนต์ เสื้อผ้า โทรศัพท์ และการให้บริการรูปแบบอื่นๆ

สามแนวทางหลักของ Cradle-to-Cradle ที่มีความคล้ายคลึงกับ Circular Economy มากๆ ก็คือ เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะไม่สร้างของเสีย หรือเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน และให้ความเคารพต่อชุมชนท้องถิ่นและระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา

Cradle-to-Cradle (C2C) ถูกยกระดับและพัฒนาขึ้นเป็นมาตรฐานรับรองให้กับสินค้าที่ได้รับการออกแบบด้วยแนวคิดดังกล่าว และให้การรับรองโดย Cradle to Cradle Products Innovation Institute โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา 5 ด้าน คือ 1.คุณสมบัติของวัสดุ (ความปลอดภัยทางเคมี และความสามารถในการย่อยสลาย) 2.ความสามารถในการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ 3.แหล่งพลังงานหมุนเวียน 4.การดูแลจัดการน้ำ และ 5. ความเป็นธรรมทางสังคม

ปัจจุบันมีบริษัทกว่า 260 แห่งที่เข้าร่วมกระบวนการออกแบบและผลิตสินค้าให้เป็น C2C และมีผลิตภัณฑ์ประมาณ 600 ชนิดที่ได้รับตรารับรอง C2C แล้ว ซึ่งแสดงถึงความยั่งยืนของการผลิตและวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

nature product

อ่านต่อตอนที่ 3

ที่มา: นิตยสาร “คิด” Creative Thailand ฉบับปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (เดือนพฤศจิกายน 2561)

ผู้เขียน: เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งทั้ง IUCN, WWF และ WCS ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับเป็นนักเขียนและนักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อมและทางออกด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบันขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะทะเลและการอนุรักษ์ปะการังกับ ReReef บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วยพลังผู้บริโภค

About The Author