Sustainability2

Sustainability: Top 10 เทรนด์ยั่งยืนโลกในมุมมองของอุตสาหกรรม

แนวโน้มด้านความยั่งยืนในทศวรรษใหม่เริ่มต้นขึ้นบนความไม่แน่นอน ทั้งภัยจากไวรัสที่คุกคามชีวิตมนุษย์และจากสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในระดับวิกฤต ในอีกทางมหันตภัยครั้งใหญ่นี้หากมองในฐานะหน้าต่างแห่งโอกาสเพื่อการสร้างโลกที่ยั่งยืนก็คือ ผู้คนจากทุกหนทุกแห่งสามารถเติมเต็มชีวิตบนโลกด้วย ‘สุขภาพที่ดี’ ได้อย่างทัดเทียมกัน ด้วยช่องว่างที่แคบลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

 

แต่แม้จะเริ่มต้นอย่างติดลบ ทศวรรษใหม่ก็ยังมีแนวโน้มในเชิงบวกและความก้าวหน้าปรากฏให้เห็นเช่นกัน จากคำประกาศของเลขาธิการสหประชาชาติว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงปี 2030 เราจะเรียกช่วงเวลานี้ว่า ทศวรรษแห่งการลงมือทำ – Decade of Action ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโอกาสที่ปลายนิ้วของเรา คือหลักประกันว่า อนาคตในหลากหลายทิศทางได้เปิดกว้างสำหรับเราและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

โอกาสที่ว่านี้อาจเห็นได้จากความคิดเห็นจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและความยั่งยืนระดับโลกจาก Schneider Electric บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานไฟฟ้าจากยุโรปที่ได้ระบุถึง 10 แนวโน้มยอดนิยมสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานและธุรกิจในปี 2020 มาให้เห็นอย่างกระจ่างตา ด้วยแนวคิดที่จะช่วยยกระดับองค์กรของพวกเขาให้กลายเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน (leader in sustainability)

 

Sustainability Trends

 

TREND #1: New Climate Commitment

เมื่อองค์กรธุรกิจมุ่งมั่นกับพันธสัญญาใหม่เกี่ยวกับสภาพอากาศ

บริษัทต่าง ๆ ในหลายภาคส่วนต่างหันมาเอาใจใส่ต่อการเรียกร้องให้ดำเนินการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการจำกัดอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสและการปล่อยก๊าซให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ “Business Ambition for 1.5°C — Our Only Future” แคมเปญดังกล่าวมีผู้ร่วมลงนามแล้ว 177 รายจนถึงขณะนี้ โดยได้ให้คำมั่นที่จะตั้งเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่ 1.5 ° C  ร่วมกับบริษัทอีกมากมายที่ต่างกำลังตั้งเป้าหมายและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานด้วยการลงทุนในพลังงานสะอาด หรือการขนส่งและขับเคลื่อนโซลูชันด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินธุรกิจของตนเองและในซัพพลายเชนทั่วโลก ที่สำคัญบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ดำเนินการเพื่อจัดการกับการปล่อยมลพิษของตนเองเท่านั้น แต่ยังได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศและในภูมิภาคของตน ทั้งยังสร้างวงจรเกี่ยวกับความพยายามในข้อนี้เพื่อเร่งรัดให้เกิดการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศขึ้นโดยเร็วอีกด้วย

Contributed by Ekaterina TSVETKOVA, Head of Sustainability Consultancy; Budapest (HUN)

“Business Ambition for 1.5°C — Our Only Future”

 

TREND #2: Green Investments

เมื่อนักลงทุนทั่วโลกหันไปลงทุนในกิจการสีเขียว

ชุมชนการลงทุนในปัจจุบันกำลังหันไปสนใจในกลุ่มกิจการด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ต้องการแสดงความก้าวหน้าไปสู่ ‘โลก 1.5องศา’ ในขณะที่เส้นทางสู่ความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ ได้พัฒนาไปเรื่อย ๆ การตอบรับจากนักลงทุนก็เช่นกัน ตัวอย่างจาก Larry Fink C.E.O. ของ BlackRock ที่กล่าวในจดหมายรายปีด้วยข้อความทรงอิทธิพลว่า บริษัทของเขาจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่ “present a high sustainability-related risk” แปลได้ว่า จะไม่ลงทุนกับบริษัทที่บอกว่าความยั่งยืนคือความเสี่ยงอย่างสูง ซึ่งเป็นเพียงตัวชี้วัดล่าสุดของแนวโน้มนี้ ในเดือนธันวาคม 2019 นักลงทุน 631 รายจากทั่วโลก คิดเป็นสินทรัพย์รวมกันประมาณ 37 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการต่อสู้กับClimate Change และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้สหภาพยุโรปได้วาง “Action Plan: Financing Sustainable Growth” หรือ “แผนปฏิบัติการ: การจัดหาเงินทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” เพื่อมุ่งไปสู่การเปิดเผยถึงความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ พันธกิจส่วนหนึ่งของกฎระเบียบใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนและสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ – low-carbon economy สรุปได้ว่า นอกเหนือจากแรงกดดันของนักลงทุนและผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและเปิดเผยถึงความเสี่ยงด้านสภาพอากาศแล้ว บริษัทต่าง ๆ ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางกฎหมายเช่นกัน

Contributed by Maureen BRAY, International Energy & Sustainability Consultancy Director; Dunfermline (UK)

“จะไม่ลงทุนกับบริษัทที่บอกว่าความยั่งยืนคือความเสี่ยงอย่างสูง”

 

Sustainability6

 

TREND #3: Corporates buying renewable energy always and everywhere

สัญญาซื้อขายพลังงานหมุนเวียน

ในปี 2019 เราได้เห็นพัฒนาการที่น่าสนใจมากมายในพื้นที่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน: นอกเหนือจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของโอกาสจากการหมุนเวียน (ทรัพยากร) หรือ renewable opportunities ในสหรัฐฯ แล้วยุโรปยังคงก้าวไปข้างหน้าในฐานะตลาดที่น่าสนใจสำหรับ PPAs  (สัญญาซื้อขายไฟฟ้า) ระดับองค์กร ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2020 เท่านั้น เรายังได้เห็นนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นในโครงสร้างข้อตกลงที่ออกมาจากตลาดยุโรป ตัวอย่างเช่นในปี 2019  Signify ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Purchase Agreement – VPPA) ที่ประกาศต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในโปแลนด์และสัญญาประเภทต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงซึ่งนักพัฒนาในสายนี้กำลังนำเสนอออกสู่หลาย ๆ ตลาด

นอกเหนือจากยุโรป ปี 2019 ได้แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลก แต่ก็มีความท้าทายเช่นกันในบางภูมิภาคหน้าใหม่สำหรับพลังงานหมุนเวียน เช่น การซื้อ I-REC ที่เพิ่มขึ้นในอินเดียและบราซิล และทั้งสองประเทศนี้ก็ยังเแสดงศักยภาพในการซื้อพลังงานหมุนเวียนในปี 2020 มากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันบริษัทในออสเตรเลียก็ยังเดินหน้าสำรวจโครงสร้างข้อตกลงที่หลากหลายต่อไปตั้งแต่ PPAs ระยะยาวไปจนถึงสัญญาซื้อขายพลังงานในระยะสั้น (short-term renewable retail contracts) ส่วนตลาดใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นสำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ต้องจับตามองในปีนี้ ได้แก่ เวียดนาม ไต้หวัน จีน อิตาลีและเยอรมนี ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งนับเป็น key driver สำหรับพลังงานหมุนเวียนในปี 2020 คือ ความเร่งด่วนของบริษัทต่างๆ ที่จะบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน – sustainability goals ด้วยความคิดริเริ่มระดับโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่น RE100 (โครงการระดับโลกนำโดยกลุ่มธุรกิจชั้นนำที่มุ่งมั่นจะใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์​ในการดำเนินธุรกิจ) และ Science-Based Targets โดยมีบริษัทต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นกว่าที่เคยจัดการวางตำแหน่งตัวเองในกลุ่มผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศที่ให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงจังในเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนและการลดก๊าซเรือนกระจก


*โครงการ RE100 เป็นโครงการระดับโลกภายใต้การนำของ The Climate Group ร่วมด้วยโครงการ CDP – Carbon Disclosure Project โดยมีเป้าหมายในการผนึกกำลังบริษัทกลุ่ม Fortune 500 เช่น Apple, Google, Facebook, Coca-Cola, Microsoft, Philips และ Goldman Sachs ให้ตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในกรอบเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ แต่ละบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ RE100 จะตั้งเป้าใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% ในการดำเนินงานทั้งหมดทั่วโลก


Contributed by James LEWIS, Director of International Cleantech; Boulder, CO (U.S.)

“key driver สำหรับพลังงานหมุนเวียนในปี 2020 คือ ความเร่งด่วนของบริษัทต่างๆ ที่จะบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน”

 

TREND #4: Water Action Takes Precedent

แบบอย่างการใช้น้ำระดับองค์กร

ในรายงานความเสี่ยงระดับโลกประจำปี 2020 (2020 Global Risk Report) ของ World Economic Forum ระบุว่า วิกฤตการณ์น้ำจะเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสูงสุด 5 อันดับแรกของสังคมโลกในทศวรรษหน้า เวลากำลังจะหมดลงแล้วสำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสีย เพราะองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ต้องร่วมรับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่จะต้องทำในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะหมายถึงน้ำที่ใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือในกรณีที่น้ำที่ใช้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อความแห้งแล้ง หรือ เสี่ยงต่อการเกิดมลภาวะ ฯลฯ

ในปี 2020 รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการควบคุมมลพิษในแม่น้ำลำธารและพื้นที่ชุ่มน้ำ แม้ว่าในตอนแรกอาจฟังดูเหมือนว่า เป็นชัยชนะสำหรับกลุ่มธุรกิจในแง่ของการดำเนินกิจการที่อาจมีต้นทุนต่ำลง หรือมาตรฐานเกี่ยวกับน้ำที่ลดความเข้มงวดลง แต่ในท้ายที่สุดก็อาจมีความเสียหายในระยะยาว หรือไม่อาจย้อนคืนได้กับแหล่งน้ำที่พวกเขาต้องอาศัยดื่มกินและใช้งาน

เมื่อเราเข้าสู่ทศวรรษสุดท้ายก่อนปี 2030 ซึ่งเป็นปีที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าโลกจะขาดแคลนแหล่งน้ำกินน้ำใช้ถึง 40% เราคาดหวังว่าจะได้รับความสนใจจากบริษัทต่าง ๆ ในเรื่องของประสิทธิภาพการใช้น้ำมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ ควรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ water footprint หรือ ปริมาณการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมของตนให้สอดคล้องกับคำจำกัดความของน้ำในธุรกิจของตนและควรทำการศึกษามากขึ้นด้วยว่า น้ำนั้นมาจากไหนและนำไปใช้อย่างไรในการดำเนินธุรกิจ

Contributed by Louis CHRISTOPHER, Sustainability Specialist; Louisville, KY (U.S.)

“องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ต้องร่วมรับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่จะต้องทำในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”

 



 

TREND #5: Big tech disrupts sustainability and transforms economies

เทคโนโลยีพลิกความยั่งยืน

เราอยู่ในยุคแห่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีคือสิ่งที่ก่อให้เกิดโอกาสและรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงานและความยั่งยืนในรูปแบบที่ไม่เหมือนใครและน่าทึ่ง เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ในที่นี้ เราสามารถกำหนดลักษณะของเทคโนโลยีจากข้อมูลกว้าง ๆ ออกเป็น 2 รูปแบบคือ แบบกายภาพ (Physical) และแบบเสมือน (Virtual)

เทคโนโลยีทางกายภาพหมายถึงสินทรัพย์ เช่น กังหันลมไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า ที่กักเก็บแบตเตอรี่ ไมโครกริด และแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (Distributed Energy Resource: DER) เทคโนโลยีเหล่านี้ยังคงได้รับการพัฒนาอยู่เสมอในแง่ของขีดความสามารถ หรือ Capability ในขณะที่ต้นทุนลดลงไปเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ก็คือบรรดาอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกันเป็น “internet of things” ต้นทุนต่ำทั้งหลายที่สามารถใช้งานได้ด้วยพลังประมวลผลแบบออนบอร์ดและชิปสื่อสารราคาถูก การเพิ่มจำนวนของสินทรัพย์แบบกระจายนี้หมายความว่า ผู้ใช้ปลายทางมีแนวโน้มที่จะหาทางเพิ่มแหล่งทรัพยากรหมุนเวียนและ grid edge resource อื่น ๆ ในพอร์ตการลงทุนด้านพลังงาน เพื่อให้มีความแน่นอนด้านต้นทุนและการควบคุมที่ดียิ่งขึ้น ส่งผลถึงการบรรลุเป้าหมายและพันธะสัญญา / ข้อตกลงด้านความยั่งยืนต่างๆ และปรับปรุงด้านความยืดหยุ่นด้วย การเปลี่ยนแปลงนี้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนของกริด (grid defection) และการลบคนกลาง (disintermediation) ออกจากเจ้าของสินทรัพย์ของผู้ใช้ปลายทาง (end user asset owners) และผู้ให้บริการกริดส่วนกลาง (central grid operators) ที่ให้บริการในธุรกิจรูปแบบเดิม

ในทำนองเดียวกันเทคโนโลยีเสมือนจริงต่าง ๆ  ตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปจนถึง Distributed Ledger Technology (DLT) ไปจนถึง Big Data ได้เข้ามาช่วยให้องค์กรมีความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพได้ดีขึ้น ไวขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด ตัวอย่างเช่นปัญญาประดิษฐ์สามารถใช้เพื่อคาดการณ์การทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนที่จะเกิดความล้มเหลวหรือเสียหาย ซึ่งจะช่วยให้องค์กรประหยัดทั้งเวลา เงินและทรัพยากร (เช่น การใช้พลังงานหรือการใช้น้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้น) ส่วน DLT โดยมากจะรู้จักกันแค่ว่าคือ บล็อกเชน (blockchain) มีศักยภาพอย่างมากในการเปลี่ยนวิธีการ interface ระหว่างผู้ใช้ปลายทางกับกริด แพลตฟอร์ม Blockchain กำลังถูกนำไปใช้ทั่วโลกในหลากหลายแนวคิดตั้งแต่ตลาดพลังงานในท้องถิ่นที่เปิดให้มีการซื้อขายพลังงานแบบ peer-to-peer ไปจนถึงการระดมทุนและการใช้งานสินทรัพย์พลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ ไปจนถึงการสร้างและการซื้อขายเครดิตด้านพลังงานรูปแบบเสมือนจริงและอื่น ๆ อีกมากมาย

แม้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า เทคโนโลยีทางกายภาพและเสมือนจริงเหล่านี้ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของอุตสาหกรรมพลังงานอย่างไร แต่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะเป็นไปในเชิงดรามาติกมากกว่า แน่นอนว่า Transformation – การเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะองค์กรต่าง ๆ ล้วนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทั้งรูปแบบกายภาพและแบบเสมือนเหล่านี้เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด


*Distributed Ledger Technology (DLT) คือระบบบันทึกรายการธุรกรรมดิจิทัลบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในเวลาเดียวกัน blockchain เป็นเพียงประเภทหนึ่งของ DLT และการเก็บบันทึกรูปแบบอื่นที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย DLT นี้ถูกนำมาใช้ใน bitcoin ซึ่งเป็นเพียงสกุลเงิน cryptocurrency หนึ่งเท่านั้น


Contributed by Dominic BARBATO, Director of Strategy; Louisville, KY (U.S.)

“เทคโนโลยีคือสิ่งที่ก่อให้เกิดโอกาสและรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงานและความยั่งยืนในรูปแบบที่ไม่เหมือนใครและน่าทึ่ง”

Sustainability3

 

TREND #6: Climate risk gets real

ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศมาแน่

หากปี 2019 โลกของเรากระเพื่อมไหวไปด้วยกรณีพิบัติภัยทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด จากรายงานการจัดอันดับ 20 ความเสี่ยงของ World Economic Forum ที่ทั่วโลกเผชิญในปี 2020 ความเสี่ยงเหล่านี้มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 70% คิดว่า ความเสี่ยงต่อธุรกิจจะเพิ่มมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าในทุกพื้นที่ที่มีแนวโน้มเกิดความเสี่ยงในระยะสั้น รวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น คลื่นความร้อนสูง และไฟป่าที่ไม่สามารถควบคุมได้

สืบเนื่องจากความเป็นจริงของความเสี่ยงเหล่านี้ บริษัทต่าง ๆ ควรคาดหวังว่า จะได้รับการผลักดันจากชุมชนการลงทุนเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คำประกาศล่าสุดของ BlackRock ว่าจะออกจากการลงทุนที่สร้างรายได้มากกว่า 25% จากถ่านหินกลายเป็นประเด็น ดังนั้นในปีนี้จึงเป็นปีที่บริษัทต่าง ๆ ควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากนักลงทุน เพื่อลงมือจัดการกับ Climate Change อย่างจริงจัง โดยการวางแผนการวิเคราะห์สถานการณ์ การนำคำแนะนำที่สำคัญจาก TCFD หรือ การดําเนินการประเมินผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาส เป็นไปตามกรอบการดูแลเสถียรภาพทางการเงินในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD)  และดำเนินการตามขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจ

Contributed by Erik Mohn, Director of Sustainability, Americas; Louisville, KY (U.S.)

“บริษัทต่าง ๆ ควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากนักลงทุน เพื่อลงมือจัดการกับ Climate Change อย่างจริงจัง”

 

TREND #7: Carbon zero is the economies’ new imperative

คาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์จะชัดเจนมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของกลุ่มเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ carbon neutrality goals เป็นแนวโน้มที่ยิ่งใหญ่เมื่อปี 2019 โดยมีการประกาศถึงโครงการริเริ่มเกี่ยวกับ net zero กันเกือบทุกวันทั้งจากประเทศต่างๆ องค์กร ผู้จัดงานนิทรรศการ / ผู้จัดงานแสดงสินค้า หรือแม้แต่ในระดับส่วนตัว หรือ ครัวเรือน ในขณะที่หลายบริษัทได้เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวนี้ แต่ก็ยังมีการหารือกันมากมายเกี่ยวกับ what exactly is NET ZERO – อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า ปริมาณสุทธิเท่ากับศูนย์ และอะไรที่ไม่ใช่! การเอ่ยอ้างถึง คำศัพท์เลิศหรู เกี่ยวกับ Net Zero – การปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ หรือ Carbon Neutral หรือ Climate Neutral อะไรก็ตามแต่นั้น กล่าวได้ว่า จนถึงเวลานี้ ยังไร้ซึ่งความชัดเจนของขอบเขตและคำจำกัดความ หรือในอีกความหมายคือ ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับคำถามเกี่ยวกับ Carbon Offsetting หรือ การชดเชยคาร์บอน (การซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณทั้งหมดที่ปล่อยออกจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร)

ความคิดริเริ่มต่าง ๆ ในความหมายนี้ล้วนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสิ่งที่บริษัทขาย เป็นเจ้าของหรือมีผลประโยชน์คาบเกี่ยวด้วย ทั้งนี้ อัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการเอ่ยอ้างความเป็นกลาง หรือมี ‘ปริมาณสุทธิเท่ากับศูนย์’ นั้นจึงไม่ชัดเจนเสมอไป แถมยังไม่ใช่วิธีการที่จะนำมาหักล้างกับปริมาณการปล่อยก๊าซ (จริงๆ) ที่เหลือได้

นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ยังมุ่งเข้าสู่ carbon negative space ด้วยความมุ่งมั่นที่จะกำจัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศให้ได้มากกว่าที่จะปล่อยออกมาทั้งหมดภายในปี 2030 แต่เอาให้ชัด มันคืออะไรและยังไง?

ปี 2020 จะทำให้คำถามเหล่านี้มีรายละเอียดมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถกล่าวได้อย่างปลอดภัยว่าผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การทดสอบความเหมาะสมเกี่ยวกับ carbon credibility หรือ ความน่าเชื่อถือของปริมาณคาร์บอนคือ เป้าหมายที่ต้องเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets – SBT) และทุกความคิดริเริ่มเกี่ยวกับ net zero ใดใด จะต้องเริ่มต้นด้วยบรรทัดฐานการลดอุณหภูมิโลกให้ได้ 1.5 ° C หรือต่ำกว่า 2 ° C ในทุกสถานการณ์


*Carbon offsetting คือการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทหรือองค์การต่าง ๆ โดยสามารถชดเชยในรูปของการไปสนับสนุนทางการเงินหรือไปเข้าร่วมในกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ การทํา Carbon offset มักจะเป็นไปในรูปแบบที่บริษัทตนเองไปซื้อปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัทหรือหน่วยงานอื่น เพื่อเอาส่วนลดดังกล่าวมาเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซของบริษัทหรือหน่วยงานตนเอง


Contributed by Gabriel DE MALLERAY, International Consultancy Manager; Paris (France)

“การเอ่ยอ้างความเป็นกลาง หรือมี ‘ปริมาณสุทธิเท่ากับศูนย์’ ในการปล่อยคาร์บอนนั้นไม่ชัดเจนเสมอไป แถมยังไม่ใช่วิธีการที่จะมาหักล้างการปล่อยก๊าซปริมาณ (จริงๆ) ที่เหลือได้!”

 

Sustainability4

 

TREND #8: Supply chain action goes mainstream

การลงมือในระดับซัพพลายเชน

หลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนในสโคปที่ 3 หรือการปล่อยมลพิษทางอ้อม – indirect emissions ในห่วงโซ่อุปทาน หรือ ซัพพลายเชนของบริษัท ทั้งนี้ เพราะการลดคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานหลักจะนำมาซึ่งความก้าวหน้าอย่างแท้จริง เนื่องจากผลที่ได้อาจอิมแพคถึงระดับตัวเลขยกกำลังเมื่อเทียบกับการมุ่งเน้นเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการดำเนินงานของบริษัทเอง เราได้เห็นกิจกรรมมากมายสโคปที่ 3 นี้เช่น การส่งเสริมการตั้งเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ – science-based target setting สำหรับซัพพลายเออร์ การมีส่วนร่วมกับพันธมิตรซัพพลายเชนในการจัดซื้อจัดหาพลังงานหมุนเวียน หรือเข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อก้าวพ้นจากเทคโนโลยีที่ใช้คาร์บอน การผลิตไฟฟ้าใช้เองในอุตสาหกรรมแก้วเป็นตัวอย่างหนึ่งที่กิจกรรมเหล่านี้สามารถบีบให้เกิดความก้าวหน้าได้ เราจึงขอแนะนำอย่างยิ่งให้ลูกค้าของเราทำงานควบคู่กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากผู้ที่หันมาใช้งานก่อนใค่ร ๆ

Contributed by Gary Cafe, Consultancy Manager – Sustainability; Hoofddorp (Netherlands)

“การลดคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานหลักจะนำมาซึ่งความก้าวหน้าอย่างแท้จริง”

 

TREND #9: Circular economy – moving from buzz to business

เศรษฐกิจหมุนเวียนจากเรื่องเล่าสู่โมเดลธุรกิจ

ธุรกิจจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้เริ่มชี้ชัดถึงโอกาสที่เป็นไปได้ในการนำรูปแบบธุรกิจแบบหมุนเวียน หรือ circular business model มาใช้ เรารู้กันว่า โมเดลแบบวงกลมใช้กลยุทธ์ในการรีไซเคิลและการยืดอายุผลิตภัณฑ์มาใช้ ต่างจากโมเดลแบบเส้นตรง หรือ Linear Model ซึ่งเป็นโมเดลในกระแสหลัก ในอดีตความคิดริเริ่มดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การลดใช้งานพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ และการรีไซเคิลเป็นหลัก เนื่องจากทั่วโลกมุ่งความสนใจไปที่วิกฤตพลาสติกในมหาสมุทร ส่งผลให้ผู้บริโภคและหน่วยงานที่กำกับดูแลต้องหาทางจัดการในเชิงปฏิบัติการมากขึ้น

ปัจจุบัน โปรแกรมเศรษฐกิจหมุนเวียนขยายไปสู่การแยกแยะกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากจากการบริโภคทรัพยากรที่จำกัดและต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือนในยุโรปรายหนึ่งสามารถลดการปล่อย CO2 ในห่วงโซ่คุณค่าได้ 45% โดยใช้เทคนิคการแยกวัสดุและการออกแบบเชิงนิเวศ เช่น การลดสารเคมี วัสดุของบรรจุภัณฑ์ การขนส่งขาเข้าและขาออกและปรับปรุงการบำบัดของเสียที่สิ้นอายุการใช้งาน นอกจากนี้การนำผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาไม่ดีและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมออกจากตลาดก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดวิธีหนึ่งในการปกป้องสภาพอากาศ ด้วยเหตุนี้ European Green Deal ซึ่งเป็นโครงการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อกอบกู้สภาพอากาศโลกใหม่เอี่ยมของสหภาพยุโรปจึงได้สรุปลำดับความสำคัญของการหมุนเวียน และได้ประกาศมาตรการในแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปแล้วในปีนี้


*European Green Deal ที่เป็น roadmap การสร้างเศรษฐกิจแบบยั่งยืนทั้งยุโรป ด้วยการเปลี่ยนแปลงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกเป็นโอกาสในการส่งเสริมนโยบายการเติบโตทางเศรษฐกิจแนวทางใหม่นี้ทั้งภูมิภาคอย่างรวดเร็ว โดยเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มนำร่องของโลก โดยมีรายละเอียดทั้งในส่วนของการดำรงชีวิต การทำงาน และการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านการผลิตและการบริโภค โดยที่ผู้คนมีสุขภาพดีและภาคธุรกิจมีนวัตกรรมการดำเนินงานและได้ประโยชน์ทางธุรกิจพร้อมกัน

The European Green Deal เป็นหนึ่งในแคมเปญที่พยายามชี้ว่า โลกมีโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิต สุขภาพของพลเมือง และสุขภาพของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในโลก ทั้งชีวิตของสัตว์ป่า ควบคู่กับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ โดยทุกภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และทุกประเทศต้องมีส่วนร่วมและครอบคลุมบุคลากรที่เป็นมนุษยชนทุกคน


Contributed by Valérie Limauge, Sustainability Consultant; Lasne (Belgium)

“โปรแกรมเศรษฐกิจหมุนเวียนขยายไปสู่การแยกแยะกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากจากการบริโภคทรัพยากรที่จำกัดและต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

 

Sustainability5

 

TREND #10: Green microgrids are on the rise

ยุคเฟื่องฟูของไมโครกริดสีเขียว

Microgrids กำลังได้รับความนิยมเนื่องจากสาเหตุหลายประการ โดยมีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตที่มีการติดตั้งระบบนี้แล้วและที่วางแผนจะทำต่อไป เนื่องจากไมโครกริดช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งจ่ายไฟฟ้าที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้สำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้นแม้ในภูมิภาคที่ขาดแคลนพลังงาน การเติบโตของธุรกิจไมโครกริดยังมาจากความต้องการขององค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการแสวงหาความมั่นคงในการใช้พลังงานไฟฟ้าและความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานของแหล่งซัพพลายพลังงานในทางกายภาพ

ปัญหาการหยุดชะงักงันของไฟฟ้าที่เกิดจากสภาพอากาศรุนแรงกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไมโครกริดก็คือตัวช่วยในฐานะโซลูชันหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างพื้นฐานมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้เรายังเห็นไมโครกริดจำนวนมากขึ้นที่ได้รับพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และ / หรือ มีที่กักเก็บแบตเตอรี่สำรอง ต้นทุนที่ลดลงของโซลูชันอย่างโซลาร์เซลล์ (PV) และการจัดเก็บแบตเตอรี่ พร้อมกับการปรับปรุงฟังก์ชันการทำงานในเทคโนโลยีไมโครกริดได้ทำให้โครงการเหล่านี้มีต้นทุนไม่แตกต่างจากแหล่งซัพพลายกริดหรือพลังงานไฟฟ้าแบบเดิม การเปิดตัวโครงการไมโครกริดที่ประสบความสำเร็จหลายสิบโครงการทั่วโลก เช่น ศูนย์กระจาย carbon-neutral ของ Lidl ในฟินแลนด์ได้พิสูจน์แล้วว่า มีความเป็นไปได้ที่จะประหยัดพลังงานได้ในขณะที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไมโครกริดจึงไม่ใช่โซลูชันเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป และกำลังได้รับความนิยมในหลายภาคส่วน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การใช้งานเชิงพาณิชย์ การทหาร และอุตสาหกรรมและยิ่งไปกว่านั้นไมโครกริดเหล่านี้จำนวนมากเป็นเทคโนโลยีสีเขียว

 


*“ไมโครกริด” คือ ระบบไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีการรวมระบบผลิตไฟฟ้า ส่งจ่ายไฟฟ้าและควบคุมสั่งการเข้าไว้ด้วยกัน สามารถทำงานประสานเชื่อมกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก หรือโครงข่ายอื่น ๆ และยังทำงานแยกตัวเป็นอิสระได้ แหล่งผลิตไฟฟ้าภายในระบบไมโครกริดสามารถเป็นได้ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน

 “ไมโครกริด” มีข้อได้เปรียบกว่าระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าในโครงข่ายหลัก ตรงที่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างระบบผลิตไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสามารถลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในสายส่งและสายจำหน่ายได้ เนื่องจากระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าและแหล่งความต้องการใช้ไฟฟ้าตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการนำศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาใช้ มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ฟาร์มกังหันลม และสร้างระบบไมโครกริดที่พึ่งพาแหล่งพลังงานหมุนเวียน ปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเทคโนโลยีในการผลิตและส่งไฟฟ้าที่ทันสมัย นโยบายส่งเสริมพลังงาน “สีเขียว” ของรัฐบาล และความต้องการแหล่งพลังงานที่มั่นคง เชื่อถือได้โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลักในภาวะฉุกเฉิน ล้วนส่งผลให้ตลาดไมโครกริดขยายตัว


Contributed by Matthieu Mounier, Global Leader Microgrid Line of Business; Grenoble (France) 

“การเติบโตของธุรกิจไมโครกริดยังมาจากความต้องการขององค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการแสวงหาความมั่นคงในการใช้พลังงานไฟฟ้า”

Sustainability2


บทความที่เกี่ยวข้อง:

Why Circular: กรุงเทพฯ ในยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน

Tools Life: ฟินแลนด์สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไร

The Last Straw: พลาสติกฟอรัม 2019 กับแนวโน้มเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

About The Author