การแพทย์แห่งอนาคต หุ่นยนต์ AI และการรักษาแบบอัตโนมัติ

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน เทคโนโลยีหลากหลายแอปพลิเคชันมากมายกำลังถูกนำมาใช้มากกว่ายุคใดๆ ในวันที่คนอยู่บ้านกันมากขึ้น และมีคนไข้ในโรงพยาบาลมากขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ก็ถูกผลิตออกมาตอบโจทย์การใช้สอยและอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์มากยิ่งขึ้นเช่นกัน แนวโน้มที่คาดการณ์ไว้ในอนาคตเมื่อไม่กี่ปีก่อนทั้งเรื่องของ AI และ หุ่นยนต์ทางการแพทย์กำลังเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่ฉับไวกว่าที่เราเคยคาดไว้

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและการแพทย์มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตลาดเครื่องมือแพทย์จากทั่วโลกที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าร้อยละ 6.4 ต่อปี  ทำให้ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพต่อเศรษฐกิจ ไทยจึงได้กำหนดเรื่อง การแพทย์และสาธารณสุขไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายอนาคตของไทย ในปี 2579 เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือที่รู้จักกันในนาม Medical Hub

ปัจจุบันทั่วโลกมีการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบอเมริกา ยุโรปตะวันตก และเอเชียแปซิฟิค ทำให้มูลค่าตลาดโดยเฉลี่ยของเครื่องมือแพทย์จากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์รายใหญ่สำคัญๆ จะอยู่ในแถบอเมริกา และยุโรปเป็นส่วนมาก และยังเป็นผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก บริษัทเมดโทรนิค บริษัท ซีเมนส์ จeกัด บริษัท เฟรซีเนียส เมดิคอลแคร์ เป็นต้น ซึ่งมีฐานการผลิตกระจายอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางการค้าในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับเครื่องมือแพทย์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดคือ เครื่องวินิจฉัยโรคด้วยไฟฟ้า (Electro-diagnostic devices) คิดเป็นร้อยละ 12.7 ของส่วนแบ่งตลาดโลก อันดับรองลงมาคือ เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการศัลยกรรมกระดูก (orthopedic and fracture devices) ร้อยละ 7.9 และเครื่องเอ็กซเรย์ (X-ray devices) ร้อยละ 3.8 ในขณะที่เครื่องมือแพทย์ทางด้านทันตกรรมจะมีส่วนแบ่งตลาดน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 1.4

แน่นอนว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ (Healthcare) ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เกิดเครือข่ายการแพทย์ระบบดิจิทัล โดยมีคนไข้เป็นจุดศูนย์กลาง หรือที่เรียกว่า ดิจิทัลเฮลท์แคร์ (Digital Healthcare) ด้วยโซลลูชันครอบคลุมทั้งวงจร เชื่อมต่อระบบการปฏิบัติงานทางการแพทย์ทุกแขนงตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ

AI Doctor

ในการประชุมวิชาการ Siriraj International Conference in Medicine and Public Health 2016 ในหัวข้อ “Innovation in Health” ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะนำไปสู่ทิศทางในอนาคตว่ามีอยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ

การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับเทคโนโลยีชีวโมเลกุล มีการนำ Big Data มาใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค เลือกวิธีการรักษา และทำนายผลการรักษาได้แม่นยำขึ้น

การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เป็นการนำเอาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร มาช่วยเพิ่มศักยภาพ การดูแลรักษาได้ในหลายบริบทที่มีข้อจำกัดและเพิ่มความเท่าเทียมให้ผู้ป่วยทุกระดับ

การแพทย์แห่งอนาคต (Future Medicine) เป็นการนำเอาเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ มาใช้เพื่อ อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือมีอิทธิพลต่อเครื่องมือแพทย์ในอนาคต ประกอบด้วย:

– ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) กับวงการแพทย์: AI มีความสามารถในการให้ข้อมูล ต่างๆ ของผู้ป่วยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ทันทีที่ต้องการ อีกทั้งยังช่วยวางแผนการรักษาแบบผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโดยการนำ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยตรวจวินิจฉัย

– Blockchain Technology นำมาจัดทำระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเก็บข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีผลต่อประสิทธิภาพในการวินิจฉัย การรักษาของแพทย์ และการรักษาความ ปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย

– การรักษาโรคแบบทางไกล (Telemedicine) โดยนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เช่น โทรศัพท์, คลื่นวิทยุ, คลื่นไมโครเวฟ, wi-fi, เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ, 3G, 4G, ดาวเทียม เป็นต้น มาช่วยในการตรวจวินิจฉัย รักษาโรค และดูแลผู้ป่วย เพื่อให้บริการสาธารณสุขเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล และ ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

– เทคโนโลยีการรักษาแบบอัตโนมัติ โดยแพทย์จะใช้เครื่องสแกนที่เป็นระบบ all in one ที่สามารถ สแกน และฉายรังสีได้ทันที ซึ่งแพทย์จะทำการสแกนและส่งข้อมูลต่างๆ ผ่านทางสมาร์ทโฟนได้

– หุ่นยนต์ทางการแพทย์ ทำหน้าที่ในการเข้ามาช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้หุ่นยนต์ทางการแพทย์สามารถแบ่ง ออกได้เป็น 3 กลุ่มตามการพัฒนาและประยุกต์ใช้ดังนี้:

หุ่นยนต์เพื่อตรวจคัดกรอง วินิจฉัย รักษา และผ่าตัด เช่น หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด หุ่นยนต์เสริมการรังสีวินิจฉัย หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบเซ็นเซอร์และคัดกรองแบบอัตโนมัติ เป็นต้น

หุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูทางการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์เสริมสมรรถนะคนพิการ หุ่นยนต์บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยทางสมอง แขนขาเทียมอัจฉริยะเป็นต้น

หุ่นยนต์เพื่อการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และการติดตามเฝ้าระวัง เช่น หุ่นยนต์ต้อนรับ ในโรงพยาบาล หุ่นยนต์ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หุ่นยนต์นำส่งยา หุ่นยนต์ใช้ในการตรวจสารทางเทคนิคการแพทย์ หุ่นยนต์ในระดับนาโน หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบการแพทย์ทางไกลและระบบการเฝ้าระวังทางไกล (Remote Monitoring System) เป็นต้น

AI ROBOT Technology

อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดได้ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์บ้างแล้ว เฉพาะในเอเชียมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอยู่กว่า 100 ตัว และสำหรับประเทศไทยมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอยู่ไม่น้อยกว่า 5 ตัว ซึ่งข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดก็คือ ขนาดของแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กมากกว่าการผ่าตัดปกติ, ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นบริเวณที่ผ่าตัดได้ชัดเจนในตำแหน่งที่เที่ยงตรง, ศัลยแพทย์สามารถควบคุมเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กซึ่งติดอยู่กับมือหุ่นยนต์จากระยะไกลได้ อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดก็มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถผ่าตัดหรือทำหัตถการในกรณีที่เป็นการผ่าตัดซับซ้อนในอวัยวะสำคัญๆ เช่น การผ่าตัดในทรวงอก หรือเส้นเลือดในสมอง และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการผ่าตัดแบบธรรมดา

– การพิมพ์ 3 มิติ ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อและอวัยวะ เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ มีคุณสมบัติในการปรับแต่งสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมกับคนๆ นั้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติจะถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์เพื่อช่วยซ่อมแซม หรือเปลี่ยนเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหาย มีการคาดการณ์ว่า ธุรกิจการพิมพ์ 3 มิติเพื่อการแพทย์จะมีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านเหรียญภายในปี 2025 โดยบริษัทที่ เป็นผู้น าในเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิตินี้ ได้แก่ Stratasys Ltd., Arcam AB, Organovo Holdings Inc., Johnson & Johnson Services Inc. และ Stryker20

อ้างอิง: ฝ่ายวิจัยนโยบาย สวทช.

About The Author