EMO2019 banner

10 เรื่องน่ารู้ก่อนไปงาน EMO HANNOVER 2019

1. งานจักรกลโลหะการระดับโลกที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุด นอกเหนือจากเป็นงานอุตสาหกรรมโลหะการระหว่างประเทศเพียงแห่งเดียวที่มีอยู่ในขณะนี้ ที่สามารถดึงดูดผู้เข้าชมงานที่มีเป้าหมายทางการค้าจากทั่วโลกมาร่วมได้ ในปี พ.ศ. 2560 มีผู้เข้าชมงาน EMO ประมาณ 130,000 คนนั้น เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ราว 160 ประเทศทั่วโลก ส่วนผู้จัดแสดงสินค้าที่ไม่ได้มาจากประเทศเยอรมนีมีสัดส่วนสูงถึง 64% ของผู้จัดแสดงงานทั้งหมด เมื่อ 1 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการลงทะเบียน มีผู้จัดแสดงสินค้ากว่า 1,780 รายจาก 41 ประเทศลงทะเบียน

2. โลกอนาคต 2020 เครือข่ายอัจฉริยะเต็มรูปแบบ เพราะ “ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวตัดสินความสำเร็จของโรงงานอัจฉริยะ ได้แก่ การสร้างเครือข่ายอย่างกว้างขวางระหว่างผู้คน โรงงานผลิตและกระบวนการทางธุรกิจต่าง ๆ และครอบคลุมในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมนี้” การสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมโลหะการทวีความสำคัญขึ้นอย่างรวดเร็วมากเพราะการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามที่สถาบัน International Data Corporation ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยการตลาดระหว่างประเทศได้ประเมินและคาดการณ์ไว้พบว่า ภายในปี ค.ศ. 2020 จะมีเครือข่ายที่สามารถเชื่อมต่อบริษัทเอกชนและวงการอุตสาหกรรมทั่วโลกได้ถึง 3 หมื่นล้านราย

3. AM – Additive Manufacturing จะบูมที่สุดในงานนี้ การผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุเป็นหัวข้อที่ 3 ที่เป็นกระแสหลักที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในแวดวงอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับอีกสองหัวข้อคือ แนวคิด Industry 4.0 และการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ (Automation) ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงาน EMO ในปี 2017 ประมาณหนึ่งในห้า ตอบแบบสำรวจว่า สนใจการพิมพ์ 3 มิติซึ่งอยู่นอกเหนือสิ่งที่ผู้จัดแสดงนำมาเสนอในขณะนั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ EMO จัดงานแสดงสำหรับกลุ่มการผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุร่วมกับ Konra-din Media Group” โดยนิทรรศการพิเศษนี้จะช่วยเสริมกิจกรรมของผู้ผลิตอุปกรณ์การพิมพ์ 3 มิติหลัก เช่น Renishaw, Realizer, SLM, Stratasys และ Trumpf แว่วว่าที่บูธของ Ranishaw ผู้นำด้านการพิมพ์ 3D จะเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของกลุ่มการผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ โดยจะนำเสนอห่วงโซ่การผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ หรือ AM ทั้งกระบวนการ นอกเหนือจากนวัตกรรมใหม่ๆ จากอีกหลากหลายแบรนด์ที่จะมาสร้างความตื่นตื่นใจ

4. umati ภาษาใหม่ของโลกจักรกล มาตรฐานอินเทอร์เฟสสำหรับเครื่องจักรกลที่พัฒนาจาก OPC UA รวมทั้งการทำงานทั้งหมดของอินเทอร์เฟสดังกล่าวในงานแสดง EMO Hannover 2019 โดยจะเป็นส่วนต่อประสานที่เป็นกลางและเปิดกว้างสำหรับเชื่อมโยงเครื่องจักรกลต่าง ๆ เข้ากับระบบ IT ในระดับที่สูงขึ้น มาตรฐานอินเทอร์เฟสลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีขึ้นก่อนเพื่อให้ Industry 4.0 เกิดขึ้นได้ เมื่อมีอินเทอร์เฟสสากลแล้วจึงจะสามารถถ่ายโอนข้อมูลจากผู้ผลิตเครื่องจักรกลต่าง ๆ ที่มีระบบควบคมุที่แตกต่างกันไปยังระบบ ERP และ MES หรือไปเก็บไว้ใน cloud ได้ จากนั้นจึงนำข้อมูลไปประมวลหรือประเมินสำหรับการให้บริการหรือการทำงานในรูปแบบใหม่ umati เป็นตัวย่อของคำว่า universal machine tool interface

5. Start-ups เพียบ ปัจจุบัน start-ups ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคอีกต่อไป แต่พบได้มากขึ้นในอุตสาหกรรมสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตได้ด้วย กระแสหลักขนาดใหญ่ (megatrends) เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างเครือข่าย การเคลื่อนที่แบบใหม่ ๆ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการผลิตตามความต้องการเฉพาะของลูกค้า เปิดโอกาสให้ Start-up มีความคิดใหม่ ๆ จึงเป็นโอกาสที่ start-up จะประสบความสำเร็จได้ EMO Hannover 2019 จึงให้ความสนใจกับ start-ups เป็นพิเศษ โดยจัดให้มีพื้นที่ของตัวเองภายใต้ชื่อ Young Tech Enterprises @ EMO Hannover 2019 ซึ่งเป็นครั้งที่สองที่ EMO จัดให้มีขึ้น นอกเหนือจากการมอบรางวัลนวัตกรรมดิจิทัลในการผลิตเป็นครั้งแรก หรือ Digital Innovations in Production prize ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดง Young Tech Enterprises @ EMO Hannover 2019 เป็นรางวัลที่มอบให้กับแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมทางธุรกิจที่ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เน้นที่การสร้างนวัตกรรมของบริษัทใหม่ ทีมงาน ประสบการณ์และทักษะของบริษัท รวมทั้งการเชื่อมต่อกับลูกค้าและหุ้นส่วน

EMO2019

6. Big Data + IoT + 5G IoT ในกระบวนการผลิตเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของ EMO Hannover 2019 ซึ่งจะผนวก IoT เข้ากับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อทำให้เข้าใจแนวคิด Industry 4.0 ได้รอบด้านและเด่นชัด เป็นพื้นที่ที่สงวนไว้สำหรับผู้จัดแสดงในสาขา เทคโนโลยีการควบคุม ซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีการใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติแต่ละราย มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ผลิตระบบควบคุมที่มีชื่อเสียงมายาวนาน เช่น Beckhoff, Bosch, Fanuc, Heidenhain และ Siemens รวมทั้งมีพื้นที่ให้กลุ่มบริษัททางวิศวกรรมต่าง ๆ เช่น Adamos และ Axoom นำแพลทฟอร์มการใช้งาน IT ของตนมาจัดแสดง นอกเหนือจาก นิทรรศการพิเศษที่มีพื้นที่จัดแสดง Industry 4.0โซลูชันอัจฉริยะหรับธุรกิจ พื้นที่อาคารแสดงสินค้าภายในงาน EMO Hannover ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของการทดลองใช้เทคโนโลยี 5G  (Exhibition Venue with LIVE 5G TEST FIELD) การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์แบบ Ultra-Fast พร้อมแล้วสำหรับการนำไปใช้จริง!

7. ตัวเลขเยอรมนีและไทย ในปี พ.ศ. 2561 เยอรมนีได้สร้างสถิติปริมาณการผลิตและการส่งออกขึ้นใหม่ ตัวเลขเบื้องต้นบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมโลหะการมีการผลิตเครื่องจักรกลและบริการที่เกี่ยวข้องมีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่น 7 พันล้านยูโร ซึ่งประมาณร้อยละ 70 ของตัวเลขนี้เป็นผลผลิตและบริการที่ส่งออกไปนอกประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องจักรกลต่าง ๆ มูลค่าถึง 819 ล้านยูโร โดยเยอรมนีมีสัดส่วนในการเป็นผู้จัดหาเครื่องจักรกลระหว่างประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 6 เป็นซัพพลายเออร์สำคัญลำดับที่ 4 เยอรมนีมีปริมาณการจัดส่งสินค้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 ในปี พ.ศ. 2560 สินค้าที่อุตสาหกรรมโลหะการในประเทศไทยสั่งซื้อจากเยอรมนีส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วน เครื่องจักรกลและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เครื่องขัดและเครื่องขึ้นรูป (machining center) จากสถิติการนำเข้าพบว่า ผู้ผลิตมากกว่า 250 รายจากสามภาคส่วนที่สำคัญที่สุดของวงการอุตสาหกรรมไทยได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน EMO Hannover แล้วเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2561และจากสถิติย้อนหลังของงาน EMO Hannover ที่จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 มีผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตประมาณ 280 คนเดินทางจากประเทศไทยไปยังฮันโนเวอร์

8. งานนี้ไม่ฟรี! เก็บเงินทุกอย่างตั้งแต่ค่าบัตรเข้าชมงานจนถึงแคตตาล็อก แสดงให้เห็นศักยภาพและความสำคัญของงานที่ทำให้ผู้คนพากันหลั่งไหลมาจากทั่วโลก ค่าบัตรผ่านเข้างานแบ่งออกเป็น บัตรเข้าชมงานรายวันและบัตรเข้าชมงานทุกวัน แบบรายวันหากซื้อล่วงหน้าผ่านการจองทางระบบออนไลน์อยู่ที่ 36 ยูโรหรือประมาณ 1,300 บาท หากซื้อหน้างานอยู่ที่ 1,900 บาท! ส่วนบัตรเข้าชมงานทุกวัน หากซื้อล่วงหน้าราคาอยู่ที่ประมาณ 2,340 บาท หากซื้อหน้างานอยู่ที่ 89 ยูโร หรือประมาณ 3,200 บาท ส่วนราคาเข้าชมงานสำหรับเด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้เกษียณ ผู้พิการสาหัสและผู้ลงทะเบียนหางานราคาอยู่ที่ 12 ยูโรหรือประมาณ 450 บาท นอกจากนี้บัตรเข้าชมงานดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นบัตรโดยสารเพื่อเดินทางมายังสถานที่จัดงาน ทั้งทางรถไฟ รถประจำทาง และรถไฟท้องถิ่น (ชั้น 2 เท่านั้น) ซึ่งดำเนินการโดยการขนส่งเมืองฮันโนเวอร์ (GVH) ตามวันที่ระบุบนหน้าบัตรแต่ละประเภท สามารถดูตารางการเดินรถได้ที่ www.gvh.de.

แคตตาล็อกสำหรับงานในปี 2019 ก็มีราคา หากซื้อหน้างานอยู่ที่ 35 ยูโรหรือประมาณ 1,300 บาท ซื้อล่วงหน้าราคาอยู่ที่ 35 ยูโรเช่นกันแต่บวกค่าจัดส่งด้วย!

เวลาจัดงาน วันธรรมดาเริ่ม 9.00 น.- 18.00 น. ส่วนวันเสาร์เริ่ม 9.00 – 16.00 น.

9. จองก่อน ได้ที่นอนก่อน คนมากมายจากทั่วโลกมุ่งหน้ามาที่นี่ แม้ข้อดีของเยอรมนีคือระบบขนส่งที่สะดวกรวดเร็วตรงเวลาทำให้เราสามารถเลือกพักนอกเมืองได้ แต่ก็เสี่ยงเต็มอยู่เหมือนกัน ถ้ากำลังตัดสินใจและอยากหาข้อมูล แนะนำ www.hannover.de/hotels/emo

10. เที่ยวต่อ ไม่รอแล้วนะ หลังเที่ยวชมงานจนเมื่อยล้าภายในงานที่ว่ากันว่าใช้พื้นที่จัดแสดงงานหลายสิบฮอลล์ชนิดที่ต้องเดินกันถึง 3 วันเต็มๆ หากมีเวลาต่อให้จองที่พักที่เที่ยวต่อเนื่องในงานเทศกาล Oktoberfest 2019 เมืองมิวนิคระหว่างวันที่ 21 ก.ย.- 6 ต.ค. เทศกาลเครื่องดื่มขึ้นชื่อของประเทศแห่งเบียร์ที่ว่ากันว่าดื่มกันมากแค่ไหนแต่เมาแล้วไม่มีการตีกัน! (ต้องไปพิสูจน์)

หมายเหตุ:

ธีมของงาน EMO Hannover 2019 ประจำปีนี้ก็คือ “เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนการผลิตแห่งอนาคต!” (Smart technologies driving tomorrow’s production) โดยมีไฮไลท์อยู่ที่เทคโนโลยีการผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ หรือ Additive Manufacturing (AM) และอินเทอร์เน็ตออฟธิง หรือ IoT ในกระบวนการผลิตเป็นหัวข้อสำคัญ

EMO Hannover 2019 งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมโลหะชั้นนำของโลก จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 21กันยายน 2019 ที่เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี โดยมีสมาคมผู้ผลิตเครื่องมือกลแห่งเยอรมัน (German Machine Tool Builders’ Association – VDW) ร่วมกับบริษัท ดอยเช่ เมสเซ่ เอจี จากเมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนีรับเป็นเจ้าภาพจัดงาน EMO Hannover ในนามของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องมือกลแห่งยุโรป (European Association of the Machine Tool Industries – CECIMO)

ท่านสามารถสืบค้นข้อมูลอย่างละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.emo-hannover.de

บทความที่เกี่ยวข้อง:

Countdown to EMO Hannover – กระเทาะเปลือก EMO 2019

หอการค้าเยอรมัน-ไทยเรียนเชิญร่วมคณะศึกษาดูงาน EMO Hannover 2019

อุตสาหกรรมไทยอยู่ตรงไหนในยุค 4.0 จาก TGI ถึง EMO Hannover 2019

EMO Hannover 2019: ‘เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนการผลิตแห่งอนาคต!’

About The Author