สินค้าหรือบริการที่ลูกค้านึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ อย่างแบรนด์ไก่ทอดแบรนด์ไหนที่คุณนึกถึงเป็นอันดับแรก? แฮมเบอร์เกอร์ล่ะ? ไอศกรีมล่ะ?
คำตอบที่อยู่ในใจคุณนั้นเป็นผลจากความพยายามในการสร้างแบรนด์ที่มีมาอย่างยาวนานของแบรนด์นั้น ๆ เพื่อให้อยู่ในใจผู้บริโภค เป็นการบอกได้ว่าลูกค้ารู้จักธุรกิจของคุณแค่ไหน เชี่ยวชาญด้านใด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการวางตำแหน่งทางการตลาด ในธุรกิจการผลิตก็เช่นเดียวกัน โรงงานหนึ่งอาจทำได้หลากหลายอย่างแต่จำเป็นต้องเลือกออกมาสักอย่างหนึ่งที่ทำได้ดีกว่าคู่แข่ง เป็นที่รู้จัก เพราะการทำได้หลายอย่างแต่ไม่เชี่ยวชาญเลยสักอย่างนั้นไม่สามารถนำมาเป็นจุดขายได้ (Jack of All Trades, Master of None)
ในบทความนี้จะกล่าวถึงบริษัทขนาดกลางแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนีที่เลือกกระบวนการกัดด้วยไฟฟ้า (EDM) เป็นจุดเด่นในการสร้างความแตกต่างของบริษัท โดยปกติวัสดุต่าง ๆ จะมีความแข็งที่แตกต่างกัน บางวัสดุสามารถกัดด้วยเม็ดมีดได้ง่าย เช่น วัสดุอ่อนอย่างอลูมิเนียมใช้เม็ดมีดคาร์ไบด์ในการกัด หากวัสดุมีความแข็งมากตัดเฉือนด้วยเชิงกลได้ยากจะทำอย่างไร? คำตอบ คือ การกัดด้วยไฟฟ้า หากวัสดุสามารถนำไฟฟ้าได้ก็สามารถกัดได้ ความแข็งของวัสดุจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะการกัดด้วยไฟฟ้าใช้การสปาร์คของประจุไฟฟ้า ทำให้วัสดุหลอมละลายโดยที่ไม่ต้องสัมผัสกับวัสดุ สามารถจัดการวัสดุแข็งที่กัดเชิงกลยากได้ทุกประเภท เช่น แทนทาลัม โมลิบดินัม ทังสเตน ไทเทเนียม เป็นต้น
คลิปวิดีโอเกี่ยวกับ กระบวนการทำงาน EDM
เครื่อง EDM (Electric Discharge Machine) คืออะไร? (ที่มา: M.K.S. MACHINERY CO., LTD)
กระบวนการ EDM ทำงานอย่างไร? (ที่มา: ADTW Study)
การตัดเฉือนที่ไม่มีความคลาดเคลื่อน (ที่มา: TITANS of CNC MACHINING)
PLM ผู้ผลิตเครื่องมือและแม่พิมพ์ ตั้งอยู่ในเมือง Neuhausen ประเทศเยอรมนี เป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำด้านการตัดเฉือนโลหะชนิดพิเศษ บริษัทใช้เครื่อง EDM แบบลวดตัด ‘Sodick ALC400G Premium’ ที่ประหยัดและมีความแม่นยำสูงเพื่อจัดการวัสดุอย่างทังสเตน โมลิบดินัม แทนทาลัม และไทเทเนียม
Patrick Lamprecht กับเครื่อง EDM แบบลวดตัด Sodick ALC400 G
(ที่มา: Sodick)
PLM มีความเชี่ยวชาญในการตัดเฉือนโลหะชนิดพิเศษ และตลาดเฉพาะ (Niche) ด้านการผลิตของตนเองขึ้นมาเป็นเวลาหลายปี ด้วยเครื่อง EDM ที่ประหยัดและแม่นยำสูง โดยเครื่อง Sodick สามารถแทรกแซงระหว่างกระบวนการทำงานเพื่อปรับพารามิเตอร์ได้ วัสดุโลหะที่นำไฟฟ้าได้อย่าง ทังสเตน โมลิบดินัม แทนทาลัม ไทเทเนียม สามารถนำมากัดได้
วัสดุพิเศษมีจุดหลอมเหลวที่สูงและสามารถนำไปใช้งานทางเทคนิคได้หลากหลาย ลูกค้าของ PLM จึงมีอยู่ในเกือบทุกอุตสาหกรรม “เรามีลูกค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนา ยานยนต์ เทคโนโลยีการวิเคราะห์ระดับจุลภาค และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น ต้นแบบและชุดประกอบขนาดเล็กที่ทำจากวัสดุพิเศษที่มีความบริสุทธิ์สูง รวมถึงส่วนประกอบพิเศษบางส่วนที่กัดด้วยเครื่อง Sodick ยังนำไปใช้นอกอวกาศอีกด้วย” Patrick Lamprecht กรรมการผู้จัดการของ PLM กล่าว
เทคโนโลยีการผลิตที่ครอบคลุมสำหรับอุตสาหกรรมโลหการ
นอกจากการตัดเฉือนวัสดุแล้ว PLM ยังมีกลุ่มเครื่องจักรการผลิตที่ครอบคลุมกระบวนการผลิตที่หลากหลายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในอุตสาหกรรมโลหการ โดยมีกระบวนการ Milling หรือ เครื่องกัดแบบ 3 และ 5 แกน, เครื่องกลึง CNC, เครื่องเจียรที่ควบคุมด้วย CNC, เครื่องขัด, เครื่อง EDM แบบลวด และเครื่อง Die-Sinking EDM ของ Sodick นอกจากนี้ยังมีเลเซอร์ที่ตัดและเจาะรูด้วยความละเอียดสำหรับแผ่นโลหะบางอีกด้วย
ฐานลูกค้าที่กว้างขวางในหลากหลายอุตสาหกรรม
25 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการซื้อขายของ PLM เป็นการผลิตลวดเชื่อมแรงต้านทานให้กับผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ แต่ลูกค้าหลัก คือ ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีการวิเคราะห์ด้วยเอกซเรย์หรือในช่วงสุญญากาศที่ระดับสูงมาก เช่น ที่ใดก็ตามที่อุณหภูมิสูงขึ้นก็จำเป็นต้องใช้วัสดุที่หลอมละลายสูงในรูปแบบบริสุทธิ์สูง รวมถึงใช้โมลิบดีนัมหรือแทนทาลัม เป็นต้น “ลูกค้ารายอื่น ๆ ก็มีจากอุตสาหกรรมการบินอวกาศ ผู้ผลิตระบบเคลือบผิว และผู้ผลิตส่วนประกอบเฉพาะของเครื่องจักร กลุ่มลูกค้าของเราจึงค่อนข้างกว้างมาก” Lamprecht กล่าว
เครื่อง Sodick เป็นการตัดเฉือนที่มีประสิทธิภาพ “เครื่อง EDM ปฏิบัติงานโดยที่ไม่ต้องมีคนดูแลและขึ้นอยู่กับขนาดของชุดผลิต พนักงานจึงสามารถตั้งค่าเครื่องจักรอีกเครื่องเพื่อให้เครื่องจักรปฏิบัติงานหลายเครื่องพร้อมกันได้” Lamprecht อธิบาย
ในช่วงเวลาเร่งด่วน หากเครื่องจักรหยุดทำงานนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น Lamprecht จึงพอใจกับเครื่อง Sodick ที่แข็งแรง เชื่อถือได้ และต้องการการบำรุงรักษาที่น้อย ด้วยตัวฟิกซ์เจอร์ที่เหมาะสมสามารถจับยึดชิ้นส่วนต่าง ๆ และปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นในทุกคืนและทุกปลายสัปดาห์ “เครื่อง Sodick จะแจ้งให้ทราบว่าลวดใกล้จะหมดแล้ว เราไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับลวดอีกต่อไป และในอนาคตเราอาจตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรผ่านแอปได้อีกด้วย” Lamprecht กล่าว
การผลิตที่เป็นอัตโนมัติมากขึ้น
ประเด็นใหญ่สำหรับการพัฒนาในอนาคต คือ การทำให้บริษัทมีระบบอัตโนมัติมากขึ้น PLM อยู่ในกระบวนการติดตั้งเครื่องจักรที่ไม่ใช่ระบบอัตโนมัติพร้อมกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพื่อการโหลดชิ้นงานอัตโนมัติ “เรากำลังวางแผนที่จะเปลี่ยนเครื่องกัดให้มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังมองหาเซลล์หุ่นยนต์ขนาดกะทัดรัด ‘ERC 80’ จาก Erowa ที่เป็นหุ้นส่วนกับ Sodick ซึ่งจะมีข้อดีในแง่ของความปลอดภัยเชิงปฏิบัติการและอินเตอร์เฟซของเครื่องจักรกับหุ่นยนต์ที่ได้รับการทดสอบในทางปฏิบัติแล้ว นอกจากนี้ เรากำลังเริ่มใช้กระบวนการเติมวัสดุในการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติขนาดเล็กอีกด้วย” Lamprecht กล่าวสรุปแผนของบริษัท
จากบทความข้างต้น คุณผู้อ่านอาจสังเกตได้ว่า แม้ว่าบริษัทแห่งนี้จะเป็นผู้นำในด้านการตัดเฉือนไฟฟ้าของวัสดุพิเศษอยู่แล้ว แต่ก็ยังคงมองหาจุดแข็งใหม่ ๆ เข้ามาเสริมบริษัทอย่างระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สำหรับป้อนชิ้นงานเข้าเครื่องจักร ตลอดจนกำลังเริ่มใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ซึ่งบทความนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการที่ไม่หยุดนิ่ง เสาะหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อมาปรับใช้ให้องค์กรดีขึ้นอยู่เสมอ และการเลือกลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิตที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพสูง เชื่อถือได้เป็นรากฐานที่สำคัญ
บทความอ้างอิง: https://www.etmm-online.com/
บทความที่น่าสนใจ
- Vink Chemicals พัฒนาสารชีวฆาต บำบัดน้ำหล่อเย็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- AMB 2022: แนวโน้มที่มั่นคงต่อระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมตัดโลหะ
- Machining Concepts | ความท้าทายของงานกัดประสิทธิภาพสูง
- 10 ตัวอย่างความยั่งยืนของการผลิต Machine Tool
About The Author
You may also like
-
NECTEC-ACE 2024 : The next era of Thai intelligent sensors เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ
-
SuperSource : VEGAPULS 6X เซนเซอร์วัดระดับแบบต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีเรดาห์แบบพรีเมียม
-
แถลงจัดงาน THECA 2024 ผลักดันประเทศไทยสู่ฐานผลิต PCB ระดับโลก
-
อินฟอร์มาฯ – ก.พลังงาน ร่วมภาคีเครือข่ายด้านพลังงาน พร้อมจัดงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2024
-
อินเตอร์แมค – ซับคอนไทยแลนด์ 2024 เปิดแล้ว ใหญ่จริง จัดเต็ม เทคโนโลยี นวัตกรรม สัมมนาเปิดทางรอดอุตสาหกรรมไทย