อุตสาหกรรมหุ่นยนต์มาแรง!! รองรับกระแส AI และ Automation 

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์มาแรง!! รองรับกระแส AI และ Automation 

ในปัจจุบันปัจจัยการผลิตทุกอย่างมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนพลังงานก็เพิ่มขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง รัสเซียและยูเครน อิสราเอลและฮามาส ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะ สำหรับประเทศไทย นอกจากภาวะเงินเฟ้อ ค่าแรงที่จะปรับขึ้น ในขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเลตก็น่ากังวลว่าจะผลักให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปอีก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจการผลิตจำเป็นต้องหาทางลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้ยังแข่งขันในตลาดได้ 

ในอีกด้านหนึ่ง การลงทุนเครื่องจักรสำหรับการผลิตใหม่ ๆ อาจตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนและเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เมื่อเครื่องจักรรุ่นเก่า ๆ อาจไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ได้ และหากคู่แข่งส่วนใหญ่หันไปใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ต้นทุนต่ำกว่า และยังตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนซึ่งเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรปกำหนด หากต้องการค้าขาย การลงทุนเทคโนโลยีการผลิต เครื่องจักร และโซลูชันใหม่ ตลอดจนระบบอัตโนมัติและ AI ที่ทดแทนแรงงานต้นทุนสูงก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้ยังสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ บทความนี้จะเล่าถึงความกระตือรือร้นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้หุ่นยนต์และ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มความยั่งยืน

Marina Bill, president of the IFR International Federation of Robotics, gives an overview of the global robotics sector.

Marina Bill ประธานสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) เผยภาพรวมของหุ่นยนต์ทั่วโลก

(ที่มา: Ucimu)

หุ่นยนต์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

สหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR – International Federation of Robotics) เปิดเผยข้อมูลว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์กำลังมาแรง โดยในปี 2022 มีการติดตั้งหุ่นยนต์ใหม่มากกว่า 5 แสนตัวทั่วโลก เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2021 นำโดยเอเชียมีสัดส่วน 73% (จีนมีสัดส่วนมากกว่าครึ่ง) ส่วนยุโรปนั้นมีสัดส่วน 15% (ผู้นำของยุโรป คือ เยอรมนี) ในขณะที่สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 10%

จีนเพียงประเทศเดียวก็คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการหุ่นยนต์จากทั่วโลก เห็นได้ชัดว่าระบบอัตโนมัติกำลังได้รับการผลักดันมากขึ้นจากจีน ในด้านของสหรัฐฯ เมื่อปี 2022 พบว่ามีจำนวนการติดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นถึง 10% จากปี 2021 ด้วยการลงทุนจากภาคส่วนยานยนต์ สำหรับยุโรปมีการติดตั้งหุ่นยนต์ 71,000 ตัวในปี 2022 โดยเยอรมนีมีการติดตั้งใหม่ 36% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2021 ในขณะที่อิตาลีที่มีสัดส่วน 16% มีการเติบโต 8% เมื่อเทียบกับปี 2021 

ในปี 2023 มุมมองการเติบโตความต้องการหุ่นยนต์เป็นไปในเชิงบวก โดยคาดว่าความต้องการหุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้น 7% คิดตามสัดส่วนน่าจะประมาณ 590,000 ตัว และในปี 2024 ทาง IFR คาดว่าจะไปถึง 600,000 ตัว

เทรนด์นวัตกรรมของหุ่นยนต์

ความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ การเปลี่ยนกระบวนการทำงานเป็นดิจิทัล และความยั่งยืน เป็น 3 เทรนด์หลัก ๆ ที่ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากและจะยังมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในอนาคตอันใกล้นี้

1. เป็นมิตรต่อผู้ใช้ (User-Friendliness) เป็นความสามารถในการเข้าถึง ง่ายต่อการใช้งาน เพื่อให้พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานสามารถจัดการและขับเคลื่อนหุ่นยนต์ได้ รวมถึงผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานน้อยก็สามารถใช้งานได้

2. การเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล (Digitalisation) เป็นสิ่งที่จำเป็นโดยเฉพาะในปัจจุบันที่หุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศดิจิทัลที่เชื่อมต่อกัน ประกอบไปด้วยการประมวลผลคลาวด์, Big Data, 5G, AI ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ของต้นทุน ความเร็ว และการใช้งานที่หลากหลาย

3. ความยั่งยืน (Sustainability) หุ่นยนต์มีส่วนช่วยในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กรอย่างมาก โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนทางด้านวัสดุและพลังงาน ในปีหน้าหวังว่าจะมีนวัตกรรมและความก้าวหน้าอีกมากมายสำหรับวงการหุ่นยนต์ในสาขานี้

การปรับใช้ AI และหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิต

AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศดิจิทัล โซลูชันจาก AI เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการใช้หุ่นยนต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ การลดลงของประชากร การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ตลอดจนสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างโควิด ทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันมากขึ้น หุ่นยนต์และ AI จึงเป็นตัวแทนที่ตอบสนองความต้องการในการนำการผลิตกลับมายังประเทศเช่นเดิม รวมถึงช่วยในการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและเล็กอีกด้วย นั่นเป็นเพราะหุ่นยนต์และ AI ทำให้ดำเนินการพัฒนาทางดิจิทัลได้เร็วขึ้นและมีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ IFR จึงเปิดตัวโครงการ Go4Robotics แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับผู้ใช้งานใหม่ที่มีความรู้หรือประสบการณ์น้อย โดยให้การสนับสนุน ชี้แนะ และให้ความช่วยเหลือในการใช้งานโซลูชันนี้เพื่อสนับสนุน ‘การก้าวกระโดดสู่นวัตกรรม’ ของบริษัทเอสเอ็มอี

นอกจากแวดวงอุตสาหกรรม AI ยังแทรกซึมมาถึงการทำงานออฟฟิศด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Google Bard, Microsoft Co-Pilot ที่คาดหวังให้ AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานออฟฟิศ คนหนึ่งคนต้องสามารถทำงานได้มากขึ้น เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยใช้ AI เป็นตัวช่วย

คลิปวิดีโอ Microsoft Co-Pilot ผู้ช่วยนักบินสำหรับงานของคุณ

บทความอ้างอิง: https://www.etmm-online.com

บทความที่น่าสนใจ

About The Author