4 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังใช้ระบบบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ล้าสมัย

4 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังใช้ระบบบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ล้าสมัย

การบำรุงรักษาเครื่องมือเครื่องจักรเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้การผลิตดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น การยืดอายุการใช้งานของเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อให้ใช้ได้นานที่สุด การดูแลเครื่องมือที่ยังทำงานได้ด้วยประสิทธิภาพที่เหมาะสมทำให้เวลาในการหยุดเครื่องเกิดขึ้นน้อยที่สุด ชะลอความจำเป็นที่จะต้องซื้อเครื่องใหม่เพื่อประหยัดต้นทุน

ซึ่งในปัจจุบันด้วยระบบ IoT ที่เชื่อมต่อเครื่องจักรต่าง ๆ เข้ามาในเซิร์ฟเวอร์ภายในบริษัทหรือระบบคลาวด์ ข้อมูลปฏิบัติการของเครื่องจักรจะถูกจัดเก็บอย่างต่อเนื่องและสามารถใช้ในการเฝ้าสังเกตการณ์ประสิทธิภาพของเครื่องจักร รวมทั้งเห็นแนวโน้มว่าเครื่องจักรน่าจะเสียเมื่อไร เพื่อดำเนินการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ไปจนถึงการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนจากการบำรุงรักษาเชิงรับ (รอให้เสียแล้วค่อยซ่อม) มาเป็นเชิงรุก (ซ่อมก่อนที่จะเสีย) จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนโดยใช้ระบบที่ทันสมัย ในบางครั้งการรอให้เสียแล้วค่อยซ่อมนั้นใช้เวลานานเพราะต้องรอการสั่งซื้อชิ้นส่วนมาเปลี่ยนใหม่ หากมีการวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์ได้ว่าชิ้นส่วนใดที่จะเสียและต้องมีการบำรุงรักษา การสั่งซื้อก็จะสามารถทำได้ทันเวลา 

หากคุณกำลังใช้ระบบการบำรุงรักษาเครื่องมือที่ล้าสมัย คุณอาจกำลังพลาดสิ่งสำคัญที่จะประหยัดต้นทุนและเวลา อีกทั้งยังช่วยให้มีความปลอดภัยได้มากขึ้นด้วย

By integrating equipment maintenance systems with other business systems, maintenance teams can gain better visibility into equipment maintenance needs.

การรวมระบบการบำรุงรักษาเครื่องมือเข้ากับระบบอื่น ทำให้ทีมงานซ่อมบำรุงรักษาจะสามารถมองเห็นถึงความต้องการบำรุงรักษาได้ดีขึ้น (ที่มา: ฟรีลิขสิทธิ์ / Pixabay)

บทความนี้จะกล่าวถึง 4 สัญญาณที่บ่งบอกว่าระบบการบำรุงรักษาเครื่องมือของคุณล้าสมัยและขั้นตอนที่จะทำให้ทันสมัยมากขึ้น

1.  การหยุดทำงานกะทันหัน

ระบบบำรุงรักษาที่ล้าสมัยมักตกเป็นจำเลยของการบำรุงรักษาเชิงรับ อุตสาหกรรมงานโลหะอย่างแม่พิมพ์นั้นไม่สามารถวางแผนการทำงานหากเครื่องหยุดทำงานได้ นอกจากเวลาที่เสียไประหว่างที่เครื่องต้องหยุดทำงานกะทันหัน ยังมีเรื่องของอุณหภูมิที่สูงขึ้นที่อาจต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อมีการรีสตาร์ทเครื่องใหม่

ซอฟต์แวร์ CMMS (Computerized Maintenance Management System : ระบบการจัดการบำรุงรักษาที่ใช้คอมพิวเตอร์) สมัยใหม่ให้ประโยชน์หลายอย่างแก่ทีมงานซ่อมบำรุงรักษา ตั้งแต่การจัดตารางบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพจนถึงการให้ข้อมูลในการตัดสินใจแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ทีมงานสามารถเปลี่ยนจากการบำรุงรักษาเชิงรับไปเป็นการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) รวมถึงการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอัลกอริธึมอัจฉริยะ เพื่อคาดการณ์ความเสียหายของเครื่องก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง ทำให้ลดเวลาหยุดการทำงานของเครื่อง และลดต้นทุนในการบำรุงรักษา

การลงทุนใน IIoT (Industrial Internet of Things) การวิเคราะห์ข้อมูล และอัลกอริธึมอัจฉริยะมีประโยชน์อย่างมากต่อกระบวนการบำรุงรักษาเครื่องมือ เซนเซอร์ที่ใช้ IIoT สามารถรวบรวมข้อมูลการใช้เครื่องมือได้แบบเรียลไทม์ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้ถึงสภาพของเครื่องมือและความต้องการในการบำรุงรักษา อัลกอริธึมอัจฉริยะยังนำมาใช้เพื่อพัฒนาโมเดลการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ ทำให้ทีมงานสามารถจัดตารางกิจกรรมบำรุงรักษาล่วงหน้าได้และหลีกเลี่ยงการหยุดทำงานของเครื่องจักรกะทันหันได้

2. ขาดการวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลมีบทบาทสำคัญในระบบการบำรุงรักษาเครื่องมือ การวิเคราะห์ข้อมูลช่วยระบุรูปแบบ คาดการณ์ความเสียหายของเครื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน หากไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมการบำรุงรักษาเครื่องมือจะเป็นเชิงรับแทนที่จะเป็นเชิงรุก ส่งผลให้เกิดความเสียหายโดยที่ไม่คาดคิดได้ และหากเครื่องหยุดทำงานก็จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายจากความเสียหายสูง ระบบที่ล้าสมัยอาจไม่สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้จัดการงานซ่อมบำรุงรักษามองเห็นสภาพของเครื่องมือได้อย่างจำกัด 

หากไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสม อาจเป็นเรื่องยากที่จะระบุจุดที่ต้องการปรับปรุงในกระบวนการบำรุงรักษา ตัวอย่างเช่น การตรวจจับรูปแบบอัตราความเสียหายของเครื่องจักรอาจทำได้ยาก ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ซอฟต์แวร์การวิเคราะห์ข้อมูลสามารถเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการบำรุงรักษาโดยการให้ข้อมูลเชิงลึกการทำงานของเครื่องมือเครื่องจักรได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ช่วยลดเวลาการหยุดทำงานของเครื่องและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (Predictive Analytics) สามารถใช้เพื่อคาดการณ์ความเสียหายของเครื่องมือได้ ช่วยให้ผู้จัดการงานซ่อมบำรุงรักษาสามารถวางแผนกิจกรรมในการบำรุงรักษาล่วงหน้าได้ อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการที่เครื่องหยุดทำงานกะทันหันได้ โดยรวมแล้วการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการบำรุงรักษาเครื่องมือสมัยใหม่ ทำให้ทีมงานซ่อมบำรุงรักษามีแนวทางในการบำรุงรักษาเครื่องมือเชิงรุกมากยิ่งขึ้น

3. การติดตามงานแบบแมนนวล

การบันทึกการบำรุงรักษาโดยใช้กระดาษนั้นล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัลทุกวันนี้ การติดตามงานแบบแมนนวลอาจนำไปสู่ความผิดพลาด ความล่าช้า และการสูญเสียข้อมูลที่สำคัญ จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้ข้อมูลโดยรวมและความต้องการในการบำรุงรักษาของเครื่องมือได้อย่างถูกต้องแม่นยำ การติดตามงานแบบแมนนวลอาจทำให้เสียเวลาอันมีค่าไปกับงานที่สำคัญกว่าได้ การเปลี่ยนมาเป็นระบบบันทึกดิจิทัลจะช่วยพัฒนากระบวนการบำรุงรักษาได้อย่างมาก

โซลูชัน CMMS และ EAM อันทันสมัยมาพร้อมกับระบบการเก็บบันทึกดิจิทัลทางเลือก เช่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้คลาวด์และแอปพลิเคชันมือถือ โซลูชันเหล่านี้ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์บนอุปกรณ์ทั้งหมดเพื่อการตอบสนองที่เร็วขึ้นและการวางแผนแบบไดนามิก ทำให้ทีมงานซ่อมบำรุงรักษาสามารถติดตามการทำงานของเครื่องมือเครื่องจักรและความต้องการในการบำรุงรักษาได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

* CMMS หรือ Computerized Maintenance Management System : ระบบการจัดการบำรุงรักษาที่ใช้คอมพิวเตอร์

* EAM หรือ Enterprise Asset Management : การจัดการสินทรัพย์องค์กร

4. ขาดการบูรณาการ

โรงงานสมัยใหม่ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยกับระบบที่ซับซ้อน ระบบบำรุงรักษาเครื่องมือที่ล้าสมัยอาจไม่เข้ากัน หากขาดการผสานรวมกันระหว่างระบบการบำรุงรักษาเครื่องมือและกระบวนการทางธุรกิจอื่นอาจนำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า ตัวอย่างเช่น หากข้อมูลการบำรุงรักษาเครื่องมือรวมกับระบบการจัดการสินค้าคงคลัง จะช่วยให้ติดตามความพร้อมในการเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่และมั่นใจได้ว่าชิ้นส่วนเหล่านั้นสั่งซื้อได้อย่างทันท่วงที

การรวมระบบการบำรุงรักษาเครื่องมือกับระบบธุรกิจอื่น เช่น การจัดการสินค้าคงคลัง การติดตามสินทรัพย์หรือการรายงานทางการเงิน ทำให้สามารถมองเห็นถึงความต้องการในการบำรุงรักษาเครื่องมือและทำให้กระบวนการบำรุงรักษานั้นง่ายขึ้น

ด้วยการรวมข้อมูลการบำรุงรักษาเข้ากับระบบการจัดการสินค้าคงคลัง ทีมงานซ่อมบำรุงรักษาจะสร้างคำสั่งซื้อสำหรับการเปลี่ยนชิ้นส่วนได้โดยอัตโนมัติตามข้อมูลสินค้าคงคลังได้แบบเรียลไทม์ เป็นการลดความเสี่ยงในเรื่องของสินค้าหมดสต็อก และใช้เวลาในการบำรุงรักษาได้มากขึ้น  

หากไม่มีการบูรณาการในระบบบำรุงรักษาเครื่องมืออาจนำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพและขาดโอกาสในการพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้น การรวมระบบการบำรุงรักษาเครื่องมือทำให้ทีมงานซ่อมบำรุงรักษาสามารถมองเห็นความต้องการในการบำรุงรักษาของเครื่องมือได้ดีขึ้น และใช้แนวทางในการบำรุงรักษาเชิงรุกได้มากขึ้น

ระบบการบำรุงรักษาเครื่องมือที่ทันสมัยนั้นมีความสำคัญสำหรับธุรกิจเพื่อที่จะคงความสามารถในการแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมโลหการ ด้วยการลงทุนในซอฟต์แวร์ CMMS ที่ทันสมัย การใช้ IIoT การวิเคราะห์ข้อมูล และอัลกอริธึมอัจฉริยะ ทำให้ธุรกิจสามารถพัฒนากระบวนการบำรุงรักษาให้ดีขึ้น ช่วยลดเวลาหยุดการทำงานของเครื่อง ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

สำหรับการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ คุณผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นได้ในบทความด้านล่าง

บทความอ้างอิง: https://www.etmm-online.com/

บทความที่น่าสนใจ

About The Author