bio!TOY 2023

ผู้ผลิตของเล่นร่วมกันหารือในการพัฒนาพลาสติกและของเล่นเพื่อความยั่งยืนในงาน bio!TOY 2023

ในงาน bio!TOY ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 21-22 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ามากกว่า 110 บริษัท จาก 18 ประเทศ จัดขึ้นที่เมือง Nuremberg รวมทั้งแบบออนไลน์ด้วย bio!TOY เป็นการรายงานเรื่องราวความสำเร็จตลอดจนการพัฒนาพลาสติกและของเล่นที่ผลิตจากพลาสติกอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่มีการปรึกษาหารือถึงเป้าหมายและเงื่อนไขกระบวนการอย่างเป็นระบบอีกด้วย ซึ่งงานนี้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2019 และครั้งที่ 2 ในปี 2021

(ที่มา: bioplasticmagazine.com)

เรื่องของความยั่งยืนยังมีการขับเคลื่อนอย่างมากในหลาย ๆ อุตสาหกรรม และครอบคลุมอย่างกว้างขวางตั้งแต่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน การรีไซเคิลวัสดุในการผลิต เป้าหมายเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์ แต่หากจะกล่าวถึงอุตสาหกรรมพลาสติก สิ่งที่เป็นปัญหาหลัก คือ การปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อม หลังจากที่สินค้าถูกใช้แล้วทิ้ง ในปัจจุบันจึงมีความพยายามในการเปลี่ยนมาใช้ไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ อาจเห็นจากการเปลี่ยนช้อนส้อมพลาสติกมาใช้วัสดุไบโอพลาสติก การเปลี่ยนถุงพลาสติกมาเป็นถุงพลาสติกชีวภาพ  ในส่วนของอุตสาหกรรมของเล่นก็มีการใช้พลาสติกเป็นวัสดุหลักในการผลิต ทางยุโรปจึงมีการหารือเรื่องนี้อย่างจริงจัง เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการผลิตของเล่นมาเป็นพลาสติกชีวภาพ แต่การเปลี่ยนมาใช้ไบโอพลาสติกนั้นต้นทุนสูง ผู้ซื้ออาจรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้เพียงแค่ 10% ดังนั้นส่วนที่เหลือผู้ผลิตต้องเป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งแนวโน้มความยั่งยืนในตลาดของเล่นจะถูกผลักดันได้แค่ไหนนั้นขึ้นกับผู้บริโภคที่จะหาซื้อของเล่นว่าเห็นความสำคัญของความยั่งยืนมากแค่ไหน ยิ่งภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วน ต้นทุนการผลิตทุกอย่างมีราคาแพงขึ้น ผู้คนมีกำลังซื้อลดลง ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ (ต้นทุนการผลิตที่ถูก) และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ต้นทุนการผลิตสูงกว่า (เอาไว้ก่อน หรือทำเท่าที่จำเป็น) ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้เรื่องของเศรษฐกิจจึงมาก่อน (ต้นทุนต้องต่ำไว้ก่อน) อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยู่ในลำดับความสำคัญของผู้ผลิตของเล่นทางยุโรปที่หารือกันเพื่อพยายามผลักดันและหาหนทางในการปฏิบัติที่มีความยั่งยืนมากขึ้นอย่างจริงจัง 

การประชุม bio!TOY เป็นสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมงานได้หาโซลูชันที่เป็นรูปธรรมผ่านการแลกเปลี่ยนแนวความคิดและความร่วมมือ

(ที่มา: Toys/Alfred Kirst)

โซลูชันพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศนั้นมีมากขึ้น และผู้ผลิตของเล่นก็มีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้นด้วยเช่นกัน ในงาน bio!TOY ณ เมือง Nuremberg ประเทศเยอรมนี มีประมาณ 30 บริษัทที่นำเสนอโซลูชันและเป้าหมายในการเปลี่ยนวัสดุฟอสซิลด้วยวัตถุดิบชีวภาพและ/หรือรีไซเคิล ประมาณ 2 ใน 3 ของการนำเสนอมุ่งเน้นไปที่วัสดุที่เกี่ยวข้องและการนำไปใช้ในของเล่น รวมถึงบริษัทชั้นนำอย่าง Lego และ Braskem 

ความต้องการในการรับรองที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล บล็อกเชน การตรวจสอบย้อนกลับได้ถูกหยิบยกขึ้นมา มีการปรึกษาหารือเรื่องการใช้ที่ดิน วัตถุดิบยุคที่ 1, 2 และ 3 และข้อโต้แย้งต่าง ๆ ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดในการใช้พื้นที่ทางการเกษตร คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง แต่ข้อเท็จจริงที่ตกผลึกจากการหารือก็คือการสื่อสารที่ดีกับผู้บริโภคนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถึงกระนั้นผู้บริโภคก็มีบทบาทสำคัญต่อความต้องการของตลาดนั่นเอง

วัตถุดิบพลาสติกชีวภาพยุคที่ 1, 2 และ 3 ต่างกันอย่างไร? 

(เครดิต: bioplasticnews.com)

วัตถุดิบยุคแรก คือ พืชผลและพืชชนิดแรกที่นำมาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ โดยที่คนและสัตว์สามารถรับประทานได้ วัตถุดิบยุคแรกมีประสิทธิภาพที่สุดในการผลิตพลาสติกชีวภาพเนื่องจากใช้พื้นที่ในการปลูกน้อยกว่า และให้ผลผลิตที่มากกว่าวัตถุดิบยุคอื่น ๆ เช่น ถั่วเหลือง ซีเรียล ข้าวโพด บีทชูการ์ อ้อย และเรพซีด

วัตถุดิบยุคที่สอง คือ ของเหลือทิ้งจากวัตถุดิบยุคแรก พืชผลและพืชที่ไม่ใช่อาหาร ไม่เหมาะสำหรับการรับประทาน เช่น วัตถุดิบเซลลูโลส หรือวัสดุของเสียจากวัตถุดิบยุคแรก เช่น น้ำมันพืชเหลือทิ้ง

วัตถุดิบยุคที่สาม คือ มวลชีวภาพที่แปรมาจากสาหร่าย (Algae) 

หากคุณผู้อ่านสนใจเรื่องวัตถุดิบสำหรับพลาสติกชีวภาพยุคต่าง ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในลิงก์ด้านล่างในรูปแบบภาษาอังกฤษ

Bioplastic Feedstock 1st, 2nd and 3rd Generations

มิติทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ หลังจากการนำเสนอโดย Maarit Nyman จาก EU Commission DG Grow ตัวแทนจากอุตสาหกรรมของเล่นและการจัดหาพลาสติกที่ได้หารือถึงสถานะปัจจุบันและขั้นตอนที่จำเป็น ทุกคนต่างเห็นด้วยว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่ประเด็นกระแสนิยมแต่ต้องเป็นรากฐานในอนาคตของทั้งสองอุตสาหกรรมด้วย ในขณะที่อุตสาหกรรมของเล่นยังให้ความสำคัญกับหัวข้อความปลอดภัยของของเล่น แต่ในเวลาเดียวกันอุตสาหกรรมพลาสติกได้เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและแหล่งวัตถุดิบทางเลือกที่ไม่ใช่ฟอสซิล Alexander Kronimus กรรมการผู้จัดการเพื่อความยั่งยืนของ Plastics Europe ประเทศเยอรมนี มีความยินดีอย่างยิ่งที่อุตสาหกรรมของเล่นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และเชิญชวนให้มีการพูดคุยร่วมกันจากตัวแทนของทั้งสองอุตสาหกรรม สมาคม นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบายให้ทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดความต้องการที่เร่งด่วนที่สุด ตลอดจนแนวทางในการตอบสนองความต้องการดังกล่าว ความร่วมมือจึงเป็นกุญแจสำคัญ “ความปลอดภัยและความยั่งยืนเป็นเหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน ความยั่งยืนเป็นตัวสร้างเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับความปลอดภัยของเด็กและเป็นตัวชี้วัดสำหรับคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ ด้วยเช่นกัน”

แรงจูงใจของ Ulrich Betzold ผู้ค้าปลีกครบวงจร Betzold และ  Filippo Gallizia ผู้ผลิตของเล่น Geomag ได้ตัดสินใจเปลี่ยนบริษัทและของเล่นให้เป็นวัสดุที่ยั่งยืน โดยมีข้อบัญญัติ คือ “เราต้องให้โซลูชันแก่ลูกค้าของเรา เราไม่สามารถรอสิ่งที่ดีที่สุดได้” แต่การหารือนั้นก็ไม่สามารถหลีกหนีจากความเป็นจริงอย่างต้นทุนของวัสดุได้ “ลูกค้าเต็มใจที่จะจ่ายต้นทุนบางส่วน (10 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ Betzold ให้ข้อมูล) โดยที่เราต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และไม่ควรตั้งเป้าที่จะทำกำไรเพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านี้”

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถไปในทิศทางเดียวกันได้ แต่ปัจจัยที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายอย่างภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนจากทางสหภาพยุโรปนั้นเป็นเป้าหมายที่ผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมต้องทำให้ได้ หากยังต้องการคงความสามารถในการแข่งขัน ถ้าไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่ม ซึ่งจะทำให้สินค้าที่วางขายในตลาดปลายทางในยุโรปมีราคาแพงขึ้นจนอาจไม่สามารถแข่งขันได้ การผูกต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมจากภาษีคาร์บอนเข้าไปในสมการต้นทุนเป็นกลไกเดียวที่จะมีประสิทธิผลในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนให้ได้ผลเป็นรูปธรรม

ทางยุโรปเองก็สะท้อนภาพแนวโน้มที่ดีด้านความร่วมมือกันระหว่างอุตสาหกรรมเฉพาะอย่างของเล่นนั้น ตัวอย่างเช่น Braskem ก็มีความร่วมมือกับบริษัท  SCG Chemical ในประเทศไทย เพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพเช่นเดียวกัน 

คุณผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดความร่วมมือขับเคลื่อนพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยระหว่าง Braskem และ เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้จากลิงก์ด้านล่าง

https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/collaboration-projects/scg-chemicals-and-braskem/

นอกจากนี้ คุณผู้อ่านสามารถซื้อบัตรเพื่อรับชมรายละเอียดการหารือในการประชุม bio!TOY ย้อนหลังได้ในลิงก์ด้านล่าง โดยในลิงก์จะมีมุมมองจากบุคคลที่มีบทบาทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม และวาระหัวข้อการประชุมในแต่ละวัน

https://www.bioplasticsmagazine.com/en/event-calendar/termine/bio-toy-2023/

บทความอ้างอิง: https://www.etmm-online.com/

บทความที่น่าสนใจ

About The Author