ความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญของโลกซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันในการขับเคลื่อน ในยุโรปมีการประชุม AWK’23 ที่สถาบันวิจัยและบริษัทเอกชนชั้นนำจัดขึ้นเพื่อร่วมกันอภิปรายและแบ่งปันเทคโนโลยีการผลิตที่ประสบความสำเร็จต่าง ๆ เช่น Internet of Production
การใช้ข้อมูลจากเครือข่ายเครื่องจักรและโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต แนวคิดในเรื่องของการนำผลิตภัณฑ์เก่ามาประกอบใหม่ ไม่ใช่แค่เพียงการซ่อมแต่ยังเพิ่มฟังก์ชันใหม่เข้าไปและมีการอัปเดตเป็นประจำเหมือนการผลิตใหม่ลงบนผลิตภัณฑ์เดิม การประชุมในครั้งนี้เป็นการสร้างความตระหนักรู้และแบ่งปันวิธีการที่ดีที่สุดให้บริษัทอื่นนำไปปรับใช้เพื่อก้าวไปพร้อมกัน การที่งานวิจัยถูกนำไปปฏิบัติ ไม่ขึ้นหิ้ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิจัยเพื่อให้แนวคิดและทิศทาง ในขณะที่ภาคเอกชนนำไปปฏิบัติ เพราะเป้าหมายของความยั่งยืนนั้นจะบรรลุได้ต้องทำร่วมกันในวงกว้าง ในประเทศไทยก็เพิ่งมีการจัด Sustainability Expo 2022 ขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา จัดโดยมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับองค์กรจากหลายภาคส่วน นอกจากภาคธุรกิจที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริงแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของธุรกิจว่ามีความยั่งยืนอีกด้วย
อุตสาหกรรมการผลิตยังคงต้องพึ่งพาโลจิสติกส์ พลังงานฟอสซิล และวัตถุดิบหายากจากทั่วโลก วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โรคระบาดโควิด และสถานการณ์ปัจจุบันในยูเครน แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าการทำได้ตามเป้าในเรื่องของความยั่งยืนเพียงอย่างเดียวหรือการจัดการปัญหาคอขวดแต่ละรูปแบบ แล้วเศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำให้บริษัทมีความยั่งยืนมากขึ้นได้อย่างไร?
AWK’23 มุ่งเน้นไปที่ข้อมูลการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าสามารถช่วยให้บริษัทมีความยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้นได้
(ที่มา: WZL)
การช่วยบริษัทต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยในเรื่องลดการปล่อยมลพิษและสภาพอากาศทั่วโลกนั้นเป็นเป้าหมายของ Aachen Conference for Production Technology ธีมหลักของการประชุม AWK’23 คือ Empower Green Production ซึ่งเป็นแก่นในความพยายามของทีมนักวิจัย Aachen นำโดยทีมของศาสตราจารย์ Robert Schmitt, Thomas Bergs, Christan Brecher และ Günther Schuh เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตแบบกรีน
ในการประชุมที่ผ่านมาของ WZL และ Fraunhofer IPT ได้นำเสนอตัวอย่างการวิจัยและโครงการอุตสาหกรรมที่ประสบผลสำเร็จในปี 2010 เน้นการนำเสนอ Internet of Production (IoP) และเครือข่ายที่ครอบคลุมเครื่องจักรและโรงงาน พร้อมคำถามที่ว่าฐานข้อมูลที่ได้จาก IoP สามารถเป็นพื้นฐานสำหรับอินเตอร์เน็ตเพื่อความยั่งยืนได้อย่างไร? ขั้นตอนต่อไป คือ การใช้ทรัพยากรที่ไม่เพียงแต่เพิ่มผลิตภาพเท่านั้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตหมุนเวียน เป้าหมายของการประชุม AWK’23 คือ การแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีและกลยุทธ์ใดจะเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนแปลงนี้ บริษัทต่าง ๆ สามารถเลือกเครื่องมือเฉพาะสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากขั้นตอนที่มีอยู่มากมาย และการวิจัยการผลิตที่ท้าทายจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ
การเริ่มต้นของการประเมินการผลิตภาคอุตสาหกรรม
“เราไม่ได้มีเวลาเหลือมากพอที่จะพูดเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะหลายสิ่งหลายอย่างกำลังเข้าที่เข้าทางพร้อมให้ลงมือทำได้แล้ว” ศาสตราจารย์ Robert Schmitt ประธานของ WZL และผู้อำนวยการแผนกสถาบัน Fraunhofer IPT ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการจัดงานของ AWK ในปีนี้ อธิบายว่า การขับเคลื่อนความยั่งยืนไม่ได้เป็นประเด็นด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในสังคมด้วย ไม่ใช่แค่เพียงลด CO2 แต่ในด้านของการวิจัยและภาคอุตสาหกรรมต้องมีส่วนในความรับผิดชอบต่อการสร้างสังคมที่มีเสถียรภาพและเชื่อว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมสามารถเป็นปัจจัยที่มีความเสถียรภาพได้ หมายความว่า บริบทของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ซึ่งในที่นี้หมายถึงประเทศเยอรมนี ประเด็นที่ปรับใช้ได้สำหรับประเทศไทย คือ การตัดสินใจทำสิ่งใด ๆ ต้องไม่คำนึงถึงแค่เรื่องของตัวเงินหรือเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงมิติอื่น ๆ ประกอบด้วย
ผู้จัดงานจาก WZL และ Fraunhofer IPT ตั้งเป้าที่จะโฟกัสถึงความเป็นไปได้ที่บริษัทต่าง ๆ สามารถดำเนินการอย่างยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้นในเวลาเดียวกัน ด้วยความช่วยเหลือของข้อมูลการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด วงจรอายุของผลิตภัณฑ์ที่เห็นได้ชัด และแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่าเป็นสิ่งที่สนับสนุนความยั่งยืน บริษัทต่าง ๆ เริ่มที่จะประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตและห่วงโซ่กระบวนการบนพื้นฐานของตัวเลขหลักที่สำคัญ โดยให้น้ำหนักและเกณฑ์ความยั่งยืนมากขึ้น
การอัปเดตผลิตภัณฑ์อยู่เป็นประจำ ช่วยยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์
สิ่งที่สำคัญสำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรม คือ การประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบองค์รวม WZL และ Fraunhofer IPT ไม่ได้มองเพียงแค่การยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่กำหนดทางเทคนิคเท่านั้น แต่ยังมองที่โอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน ซึ่งการอัปเดตผลิตภัณฑ์เป็นประจำสามารถยืดอายุการใช้งานได้ นั่นหมายถึง การนำผลิตภัณฑ์เก่ามาอัปเดตเพิ่มฟังก์ชันใหม่เป็นประจำ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลของผลิตภัณฑ์และการประกอบใหม่โดยใส่ฟังก์ชันใหม่เข้าไป ช่วยยืดอายุให้ผลิตภัณฑ์ใช้งานได้นานขึ้น แทนที่จะรอให้ผลิตภัณฑ์เสีย ใช้การไม่ได้แล้ว แล้วทำได้เพียงรีไซเคิลวัสดุ คุณผู้อ่านอาจลองนึกถึงการนำโทรศัพท์เครื่องเก่าไปเข้าศูนย์เพื่ออัปเกรดกลายเป็นโทรศัพท์เครื่องใหม่ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนตัวเครื่อง แต่เปลี่ยนอุปกรณ์เพียงบางตัว ซึ่งในปัจจุบันการอัปเดตเป็นประจำสามารถเห็นได้ง่ายกว่าหากเป็นซอฟต์แวร์ เช่น การกดเพื่อทำการอัปเดตซอฟต์แวร์ใหม่ในโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ หรือลองนึกถึงการเปลี่ยนเครื่องซักผ้า ซึ่งบางทีฟังก์ชันทุกอย่างยังดีอยู่ แต่ระบบดิจิทัลเสีย กดไม่ติด และไม่สามารถซ่อมได้เนื่องจากอะไหล่เดิมไม่มีผลิตแล้ว ซึ่งวิธีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า คือ หากเครื่องเดิมยังดีอยู่ทุกอย่าง สามารถซ่อมหรืออัปเกรดเพื่อนำมาใช้ต่อได้ ก็จะเกิดความคุ้มค่า มีอายุการใช้งานนานกว่าเดิม แทนที่ต้องทิ้งไปเป็นขยะต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ฟังก์ชันการทำงาน 95% ที่เหลือยังใช้การได้ดีอยู่ ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ ไม่เพียงแต่ทำการซ่อมแซมเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงดีไซน์ ฟังก์ชันการทำงานทางเทคนิคใหม่ทั้งหมดซึ่งเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า และการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่นำไปปฏิบัติภายใต้กรอบการทำงานที่เรียกว่า Re-Assembly Factory ผลิตภัณฑ์เก่าถูกประกอบขึ้นใหม่และพร้อมที่จะไปสู่วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ถัดไปโดยผ่านมาตรการเพิ่มคุณค่าต่าง ๆ
แนวทางของนักวิจัย Aachen เริ่มต้นจากการพัฒนาและการสร้างสรรค์ ไม่เหมือนแต่ก่อนที่เริ่มต้นจากการสิ้นสุดอายุการใช้งานและการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว นักวิจัยเน้นว่าแนวทางนี้ไม่เพียงแต่ต้องมีโครงสร้างผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมที่พิจารณาเรื่องของโมดูลาร์ใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงกระบวนการสำหรับการประกอบใหม่ในโรงงานโดยเริ่มจากที่มาของกระบวนการผลิต ส่วนไฟล์สินค้าและเครื่องมือดิจิทัลที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและเครื่องมือ อีกทั้งความต้องการของลูกค้าก็กลายเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตแบบยั่งยืน
* โมดูลาร์ หมายถึง การแยกเป็นส่วน ๆ จำเพาะที่สามารถแยกและประกอบได้ ทำให้ง่ายต่อการสับเปลี่ยน ต่อเติม
พันธมิตรในการประชุมครั้งนี้อย่าง Hexagon, Siemens และ Ericsson ตลอดจนวิทยากรจากบริษัทชั้นนำอย่าง Robert Bosch, Thyssenkrupp Steel Europe และสมาพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมนี (BDI) รวมถึงสถาบันวิจัยต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงแนวทางในการประเมินและการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการและผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม “ผมอยากเห็นสิ่งที่เราหารือในการประชุม AWK ออกมาเป็นแผนการปฏิบัติจริงที่สามารถเห็นได้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร” Schmitt พูดด้วยความหวังกับเพื่อนร่วมงานที่สถาบันวิจัย Aachen
AWK’23: ฮับข้อมูลไฮบริดสำหรับแนวโน้มต่าง ๆ ในเทคโนโลยีการผลิต
Aachen Machine Tool Colloquium เป็นการประชุมเครือข่ายและฮับข้อมูล ผู้เข้าร่วมงานมาจากสายงานที่ต่างกันเพื่อมาแลกเปลี่ยนไอเดียเกี่ยวกับผลิตในทุก ๆ 3 ปีที่สถาบันวิจัย Aachen ภายในงานประกอบด้วยโปรแกรมบรรยายชั้นนำระดับนานาชาติ พร้อมกับเยี่ยมชมสถานที่วิจัย และยังมีการประชุมที่จะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกครอบคลุมแนวโน้มในการวิจัยและพัฒนาเชิงประยุกต์สำหรับผู้เชี่ยวชาญและผู้จัดการจากภาคอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ ซึ่งงานจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566
การบรรยายมี 2 รูปแบบ ผู้เข้าร่วมการบรรยายสามารถเรียนรู้ได้โดยตรงเกี่ยวกับผลการวิจัยประยุกต์และการนำไปใช้จริงในการผลิต ผู้บรรยายใช้องค์ความรู้ในหลาย ๆ สาขาวิชาเพื่อนำมาวิเคราะห์และวิจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ การพัฒนา และการจัดการของบริษัทชั้นนำจากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกันบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ
การบรรยายประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก ดังนี้
- โครงสร้างข้อมูลที่มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ
- เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
- การสร้างแบบจำลองและการวิเคราะห์โดยมีเป้าหมายในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการผลิต
- สถานการณ์และแบบจำลองธุรกิจที่สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน
นอกจากมีการจัดอีเวนต์แบบพบปะกันแล้ว AWK ครั้งที่ 31 ที่ Eurogress ใน Aachen ยังมีการสตรีมดิจิทัลสำหรับโปรแกรมอีเวนต์อีกด้วย อีกทั้งยังมีการเพิ่มโปรแกรม Exclusive เป็นครั้งแรกและรูปแบบการสร้างเครือข่ายสำหรับผู้เข้าร่วมงานแบบออนไลน์โดยเฉพาะ การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถไปได้ทั่วโลกนั้นทำให้มั่นใจได้ว่าไม่ได้มีแค่เพียงผู้เข้าร่วมงานที่ Aachen เท่านั้น แต่ยังมีผู้เข้าร่วมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศสามารถเข้าร่วมงานได้ตามแนวทางความยั่งยืนอีกด้วย
บทความอ้างอิง: https://www.etmm-online.com
บทความอื่น ๆ
- พบกับการประหยัดทรัพยากรแบบยั่งยืนได้ที่งาน EMO Hannover 2023
- Tooling Academy จัดอบรมเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนทักษะแรงงาน
- K 2022 ร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง
- การพิมพ์สามมิติทะลายขีดจำกัดของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
About The Author
You may also like
-
NECTEC-ACE 2024 : The next era of Thai intelligent sensors เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ
-
SuperSource : VEGAPULS 6X เซนเซอร์วัดระดับแบบต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีเรดาห์แบบพรีเมียม
-
แถลงจัดงาน THECA 2024 ผลักดันประเทศไทยสู่ฐานผลิต PCB ระดับโลก
-
อินฟอร์มาฯ – ก.พลังงาน ร่วมภาคีเครือข่ายด้านพลังงาน พร้อมจัดงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2024
-
อินเตอร์แมค – ซับคอนไทยแลนด์ 2024 เปิดแล้ว ใหญ่จริง จัดเต็ม เทคโนโลยี นวัตกรรม สัมมนาเปิดทางรอดอุตสาหกรรมไทย