cybernetics_Cobot

การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้เพื่อกระตุ้นความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ

แม้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองและยานยนต์พลังไฟฟ้าเทสลาของอีลอน มัสก์ จะกลายเป็นพาดหัวข่าวไปทั่ว แต่การใช้งานระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตาหกรรมที่เพิ่มขึ้นกลับมีคนพูดถึงน้อยมาก บางครั้งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้สั่นสะเทือนวงการอุตสาหกรรมมาแล้วตั้งแต่ ปี ค.ศ.1961 เมื่อเจเนรัลมอเตอร์เป็นผู้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นครั้งแรก

ประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) ถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ในฐานะผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่อันดับที่ 12 ของโลกและเป็นรายใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรักษาสถานะผู้ผลิตที่แข็งแกร่งของประเทศถือเป็นสิ่งที่กำลังทวีความท้าทายยิ่งขึ้นในภาวะที่ต้นทุนการผลิตพุ่งสูง การแข่งขันตึงเครียด และเทคโนโลยีที่กำลังก้าวล้ำไปไกล อุตสาหกรรมที่มีการจ้างพนักงานกว่า 850,000 คนนี้ จึงต้องได้รับการสนับสนุน ซึ่งหากปราศจากการแปรรูปอุตสาหกรรมไปสู่ระบบอัตโนมัติ ก็ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน

การสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์รุ่นใหม่

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยคิดเป็นอัตราส่วน 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ตลอดระยะเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอสิ่งจูงใจมากมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ในปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์รวมผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก อาทิ ฟอร์ด เมอร์เซเดสเบนซ์ นิสสัน และอีกมากมาย

สำหรับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรม รัฐบาลไทยได้กำหนดให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพกลุ่มแรก (First S-curve) ในนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและการผลิตชิ้นส่วนหลักภายในประเทศ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

การผลักดันเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงของรัฐบาล ช่วยขับเคลื่อนการอุบัติของโรงงานระบบอัจฉริยะหลายแห่งซึ่งใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติถือเป็นหนึ่งในผู้บริโภครายใหญ่ของภาคธุรกิจหุ่นยนต์ โดยประเมินว่ามีหุ่นยนต์ 1,046 ตัวต่อคนงาน 10,000 คนในปี ค.ศ.2018

แต่เดิม หุ่นยนต์จำนวนมากที่ใช้ในโรงงานระบบอัตโนมัติมักมีขนาดใหญ่เทอะทะ จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงทั้งในด้านอุปกรณ์และการฝึกอบรมพนักงาน รวมถึงการวางผังส่วนการผลิตใหม่ในการแยกหุ่นยนต์ออกจากโซนพนักงาน เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย

นวัตกรรมสมัยใหม่ก่อให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ในโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างง่ายดายและใช้เงินลงทุนน้อยกว่าหุ่นยนต์ขนาดใหญ่เทอะทะสมัยก่อน

หุ่นยนต์เพื่อการทำงานร่วมกับมนุษย์ (โคบอต) สามารถแสดงให้โรงงานการผลิตเห็นถึงอนาคตซึ่งหุ่นยนต์สามารถทำงานเคียงข้างพนักงานที่มีทักษะเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยฟีเจอร์การทำงานด้านความปลอดภัยที่ติดตั้งมาพร้อมสรรพ ทำให้โคบอตสามารถนำไปใช้งานในสภาพแวดล้อมที่อันตรายที่ต้องการความแม่นยำและคุณภาพชิ้นงานสูง ทำให้พนักงานสามารถใช้เวลากับงานที่มีมูลค่าสูงกว่าได้ และยังช่วยเพิ่มสวัสดิภาพในสถานที่ปฏิบัติงานในเวลาเดียวกัน

Robot Technology_เทคโนโลยีหุ่นยนต์

บริษัท พีที เจวีซี อิเล็กทรอนิกส์ อินโดนีเซีย (PT JVC Electronics Indonesia) ผู้ผลิตอุปกรณ์ภาพและเสียงและอุปกรณ์นำทาง ใช้โคบอตเพื่อผ่อนแรงพนักงานจากงานที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ งานบัดกรีและงานตัดแยกชิ้นส่วนแผงวงจร ซึ่งปล่อยไอพิษและละอองอนุภาค ความแม่นยำและประสิทธิภาพของโคบอตยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตและคุณภาพของชิ้นงานโดยรวม พร้อมลดค่าใช้จ่ายได้ปีละกว่า 80,000 ดอลลาร์

คุณลักษณะที่ใช้งานง่าย ขนาดกะทัดรัด และมีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง ทำให้โคบอตสามารถผสานเข้ากับกระบวนการผลิตรถยนต์ได้อย่างสะดวกรวดเร็วโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงงานในภาพรวมแต่อย่างใด โคบอตยังสามารถช่วยงานได้หลายขั้นตอน นับตั้งแต่การเชื่อมและการลงสี ไปจนถึงการขัดผิวและการหยิบจับชิ้นงาน

โรงงานผลิตของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) ในโยโกฮาม่า ได้ใช้โคบอตของยูนิเวอร์ซัล โรบอตส์ เพื่อลดอัตราการใช้เวลาเกินรอบการผลิตและสอนแรงงานสูงอายุของบริษัทให้มีทักษะใหม่ที่มีความสำคัญ

บริษัทรถยนต์ในประเทศไทยก็กำลังดำเนินรอยตามแนวทางนี้ โดย มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คอร์ปอเรชัน ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ได้ส่งสัญญาณว่าบริษัทจะลงทุนอย่างมหาศาลกับโรงงานระบบอัตโนมัติในประเทศไทย นอกจากนี้ เราจะได้เห็นทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การเรียนรู้ของเครื่องยนต์ และบล็อกเชนในภาคธุรกิจระบบอัตโนมัติ รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงอื่น ๆ

การทำงานเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0

การนำเทคโนโลยีขั้นสูงและหุ่นยนต์โดยเฉพาะโคบอตมาใช้งานในประเทศไทย ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสร้างหลักประกันว่า อุตสาหกรรมของประเทศจะสามารถรับมือกับกระแสของโลกและขับเคลื่อนประเทศไปสู่ฐานะผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 8 ของโลกได้ภายใน ค.ศ.2020 ดังการคาดการณ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประเทศไทย

 

บทความโดย:ดาร์เรลล์ อดัมส์ หัวหน้าส่วนงานยูนิเวอร์ซัล โรบอตส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย

บทความที่เกี่ยวข้อง:

Robotics Solutions: เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

My Robot: Cobot สำหรับงานขัด กัด เจียร

Robot กับงานเอกสารดิจิทัล ก้าวแรกเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคใหม่

Invert Robotics หุ่นยนต์สุดล้ำสำหรับงานซ่อมบำรุงอากาศยาน

OnRobot เจาะตลาดไทยมั่นใจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์คึกคัก

About The Author