ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิดของโลกาภิวัตน์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก มีการจ้าง Outsource จากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และซัพพลายเชนที่มีขนาดใหญ่ระดับโลก เช่น ฟรุ้ตคัพ พีชที่ปลูกในอาร์เจนตินาแต่นำไปแพ็กลงถ้วยที่ไทย และขนส่งมาจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกา ลักษณะซัพพลายเชนเช่นนี้อาจไม่สมเหตุผลเพราะย้อนไปมา แต่ก็มีความสมเหตุสมผลในด้านของต้นทุนที่ถูกที่สุด
แนวโน้มการจ้าง Outsource การผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกำลังเป็นเรื่องที่ท้าทายเนื่องจากจะมีการนำการผลิตกลับสู่ประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเองมากขึ้นและประกันความเสี่ยงจากความเปราะบางในปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในซัพพลายเชนระดับโลก
(ที่มา: Dudley Associates)
ในปัจจุบันแนวคิดนี้กำลังจะเปลี่ยนไปด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในซัพพลายเชนระดับโลก ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ ทำให้แนวคิดเรื่อง ‘Reshoring หรือ การย้ายฐานการผลิตกลับมาสู่ประเทศ’ ได้รับความสนใจมากขึ้น
เส้นทางการเดินทางของฟรุ้ตคัพ พีชที่ปลูกในอาร์เจนตินา ขนส่งมาแพ็กลงถ้วยในไทย และส่งกลับไปขายในสหรัฐฯ
(ที่มา: Food renegade.com)
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เมื่อปี 2017 สมัย ปธน.ทรัมป์ที่มีแนวคิด ‘America First’ คือ ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ต้องมาก่อน ความพยายามในการกีดกันการค้าจากจีนในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านมาตรการภาษีจนถึงปัจจุบันก็มีมาตรการสกัดกั้นการใช้แบตเตอรี่ EV ของจีน โดยผู้ซื้อรถ EV ในสหรัฐฯ จะไม่ได้เครดิตภาษีเต็มจำนวนหากซื้อรถ EV ที่ใช้ส่วนประกอบของแบตเตอรี่จากจีนหรือประเทศอื่น ๆ ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ตามมาด้วยสงครามรัสเซีย ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส และสงครามในทะเลแดงซึ่งทำให้การขนส่งต้องอ้อมไปไกลเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม และที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คือ สงครามจีนบุกไต้หวัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของซัพพลายเชนโลกที่หากเกิดปัญหาขึ้นเมื่อใดก็จะมีผลกระทบใหญ่เมื่อนั้น
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนฟุตพรินต์
การขนส่งไปมาย่อมมีคาร์บอนฟุตพรินต์เข้ามาเกี่ยวอยู่เสมอ ทุกบริษัทกำลังพยายามเข้าสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องส่งสินค้าไปวางตลาดในยุโรป หากไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ตามกำหนด บริษัทผู้ผลิตเพื่อส่งออกต้องจ่ายภาษีเพิ่มซึ่งอาจทำให้สินค้ามีต้นทุนแพงจนไม่อาจแข่งขันในตลาดยุโรปได้
ประเทศต่าง ๆ เริ่มมองเห็นความเปราะบางของการพึ่งพิงซัพพลายเชนระดับโลก ในด้านของผู้ประกอบการเองการประเมินความเสี่ยงของปัจจัยการผลิตและหาตัวเลือกอื่นสำรองไว้ก่อนเมื่อเกิดปัญหาเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อปัญหาเกิดขึ้นการหาทางออกในเวลานั้นย่อมไม่ทันการณ์
Dudley Associates บริษัทผลิตเครื่องมือและแม่พิมพ์ฉีดขึ้นรูปในสหราชอาณาจักร ออกบทความเกี่ยวกับข้อดีของการย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศ โดยชี้ให้เห็นประโยชน์ต่าง ๆ อันได้แก่
- การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการผลิต อาจทำได้ง่ายขึ้นกว่าการควบคุมโรงงานผลิตที่อยู่ห่างไกล
- ระยะเวลารอสินค้าลดลง เนื่องจากซัพพลายเชนในประเทศสั้น จึงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น
- ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอนฟุตพรินต์จากการขนส่งที่ข้ามไปยังอีกฟากของโลกแล้วย้อนไปมาอย่างกรณี ฟรุ้ตคัพ ข้างต้น
- การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา สามารถทำได้ง่ายและปลอดภัยกว่าประเทศที่มีกฎหมายที่แตกต่างกัน
- ความร่วมมือและการสื่อสารทำได้ใกล้ชิดมากกว่า การสื่อสารและความร่วมมือภายในประเทศระหว่างผู้ผลิต นักออกแบบ และลูกค้า ทำได้ง่ายกว่า ใกล้ชิดกว่าเดิม กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น
- ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศ เพิ่มการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
- ซัพพลายเชนมีความยืดหยุ่น ความสามารถในการฟื้นตัวกลับมาสู่สภาพปกติหลังเจอปัญหาที่ไม่คาดคิดได้เร็ว ลดการพึ่งพาประเทศอื่น
- เสริมสร้างนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญของแรงงาน
ในสถานการณ์แบบนี้ การย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศต้นทาง อาจหมายถึง ในอนาคตลูกค้าอาจกลายเป็นคู่แข่ง ซึ่งผู้ผลิตต้องปรับตัวเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่อไป รวมถึงเหตุผลในการที่จ้างเราผลิตนั้นคุ้มค่ากว่าการที่ลูกค้าหันไปผลิตเอง
การที่ Dudley Associates เชิญชวนให้คนในชาติตัวเองย้ายฐานการผลิตมาในประเทศมากขึ้นนั้น หากมีผู้ประกอบการตัดสินใจผลิตในประเทศมากขึ้น ย่อมหมายถึงลูกค้าผู้ซื้อเครื่องมือและแม่พิมพ์ฉีดขึ้นรูปที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ Dudley Associates ก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น การติดตามข่าวสาร แนวโน้มการผลิตที่เกิดขึ้นในโลก ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้แต่เนิ่น ๆ เพราะหากปัญหาร้ายแรงเกิดขึ้น การหาทางออกในทันทีนั้นย่อมไม่ทันการณ์
บทความอ้างอิง: https://www.etmm-online.com
บทความที่น่าสนใจ
- 6K ADDITIVE ชนะดีลสัญญา 5 ปี จัดหาวัสดุพัฒนาอาวุธให้กองทัพสหรัฐฯ
- ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ทำได้ ‘Fuzzy Studio’ ซอฟต์แวร์ควบคุมหุ่นยนต์ที่ไม่ต้องเขียนโค้ด
- WTO x HAINBUCH เปิดตัวโรงงานอัจฉริยะอัตโนมัติเต็มรูปแบบผลิตงานได้ 24 ชม.
- การวัดค่า In-process ช่วยเสริมการทำงานแบบอัตโนมัติและลดของเสียจากการผลิต
About The Author
You may also like
-
ตลาดยุโรปเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตครั้งใหญ่ของพลาสติกชีวภาพ
-
ปัญหาความขัดแย้ง หวั่นกระทบนำเข้า-ส่งออกอุตสาหกรรมเหล็ก
-
จีนบุกตลาดอุตสาหกรรม ‘เครื่องมือตัด’ ทั้งส่งออกและผลิตใช้เอง
-
Arburg เปิดตัว Allrounder 470 H ทางเลือกประหยัดพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน
-
‘บทสรุปความยั่งยืน’ คู่มือปฏิบัติสำหรับผู้ผลิตเครื่องมือและแม่พิมพ์ โดย VDWF