AI

AI เข้ามาจุดประกายการเปลี่ยนแปลงอนาคตของอุตสาหกรรมการผลิต (ตอนที่ 2)

อย่างที่รู้กันว่าในปัจจุบันนี้ AI ถือเป็นนวัตกรรมที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานต่าง ๆ ทั้งในภาคส่วนธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การแพทย์ การโทรคมนาคม การส่งออก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหักับธุรกิจและลูกค้าได้มากที่สุด

จากบทความ ‘AI เข้ามาจุดประกายการเปลี่ยนแปลงอนาคตของอุตสาหกรรมการผลิต (ตอนที่ 1)’ เป็นการเล่าถึงการใช้ AI กับเครื่องจักรและอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ สำหรับบทความตอนที่ 2 นี้ จะเป็นเรื่องของการทำงานของมนุษย์กับการที่มี AI เข้ามาช่วยเสริมให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ประสิทธิภาพ AI ที่เหนือกว่ามนุษย์

Alexander Kunz, Head of the Smart Factory Unit ของ Trumpf อธิบายว่า “เราป้อนข้อมูลให้ AI จนสามารถจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วและตัดสินใจได้ดีกว่ามนุษย์หรืออัลกอริธึมแบบเดิม (ผลลัพธ์ของอัลกอริธึมแบบเดิมจะตรงตามที่คาดไว้ ต่างจาก AI ที่อาจตัดสินใจเองได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์หน้างาน)” 2 ประเด็นสำคัญที่นำ AI มาใช้งาน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการโดยการวินิจฉัย และการคาดการณ์เชิงป้องกัน

ตัวอย่างเช่น ระบบ Active Speed Control ของ Trumpf สำหรับการตัดด้วยเลเซอร์ โดยใช้กล้องที่ถ่ายภาพได้ 40 ภาพต่อวินาที “เราเทรน AI ให้จำแนกภาพตัดขวางที่ดีออกจากภาพที่ไม่ดีแล้วให้ตัดสินใจดำเนินการที่เหมาะสม เป็นการปรับปรุงคุณภาพการตัดได้อย่างต่อเนื่อง” 

ส่วนตัวอย่างกรณีของการคาดการณ์เชิงป้องกันนั้น AI สามารถจดจำได้หากโครงร่างผิดปกติหรือชิ้นส่วนตกอยู่ในอันตราย “เราสามารถฝึกระบบให้ดำเนินการที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการป้องกันข้อผิดพลาดก่อนที่จะเกิดขึ้น” Kunz กล่าว 

การที่ AI จะสามารถพัฒนาได้จะต้องดึงเอาความฉลาดตามธรรมชาติและความรู้จากประสบการณ์ของมนุษย์มาใช้ นั่นหมายความว่า ผู้เชี่ยวชาญจะต้องฝึก AI ก่อนที่นำมาเริ่มใช้งาน นี่คือจุดที่เปลี่ยนเครื่องจักรที่มีเพียงแค่ความชาญฉลาดไปเป็นเครื่องจักรที่เรียนรู้ด้วยตนเองได้

การดำรงรักษาความรู้เพื่อต่อสู้กับการขาดแคลนแรงงานทักษะ

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในปัจจุบันนั้นทำให้หันมาสนใจเทคโนโลยี AI กันมากขึ้น “ในมุมมองของผม การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรทำให้การถ่ายทอดองค์ความรู้เฉพาะสาขา (Domain Knowledge) เป็นหนึ่งในหัวข้อการวิจัยที่น่าตื่นเต้นที่สุดในสาขาวิศวกรรมการผลิตขณะนี้” Prof. Christian Brecher, Heads the Chair of Machine Tools at the Laboratory for Machine Tools and Production Engineering ที่ RWTH Aachen University และยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการของ WGP (German Academic Association for Production Technology) อธิบาย “การดำรงรักษาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ” คือ คำที่ Brecher เรียกการถ่ายทอดความรู้จากคนสู่เครื่องจักรซึ่งจะช่วยรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะอย่างรุนแรงได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่ขาดทรัพยากรมนุษย์และการเงินที่จำเป็นในการบูรณาการ AI ให้เข้ากับการผลิตของตน “โซลูชันในการแก้ปัญหานี้ก็คือการสร้างความร่วมมือกัน สิ่งนี้เป็นกลยุทธ์ที่เรากำลังพยายามสร้างให้กับศูนย์และคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญหลายแห่งของเราใน Aachen” Brecher กล่าว 

นอกจากนี้ โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ยังช่วยนำความรู้จากห้องปฏิบัติการวิจัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การเปิดคอร์สฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ ของเครือข่ายการสาธิตและถ่ายทอด AI สู่การผลิต (Demonstration and Transfer Network AI in Production หรือ Pro-KI) ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจาก WGP ทั้งหมด 8 ศูนย์ทั่วประเทศเยอรมนี 

ข้อมูลคือสิ่งสำคัญ

การใช้ AI ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีข้อดีหลายประการ แต่ก็ยังนำมาซึ่งความท้าทายด้วยเช่นกัน อย่างแรก โมเดล AI จำเป็นจะต้องมีข้อมูลคุณภาพสูงที่พอเพียง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Lena Weirauch แห่ง Ai-Omatic ได้แนะนำแนวทางปฏิบัติสำหรับบริษัทต่าง ๆ ให้ “…สร้างกรณีการใช้งานที่อาจจะมีข้อมูลอยู่แล้วก่อน” การบูรณาการ AI เข้าไปในกระบวนการผลิตและเครื่องจักรที่มีอยู่อาจเป็นงานที่ซับซ้อนที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนและอาจต้องลงทุนหลายอย่าง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าบริษัทต่าง ๆ ควรใช้เครื่องมือมาตรฐานหรือแอปพลิเคชัน AI ที่มีอยู่แต่แรกแทนการพัฒนาขึ้นมาเป็นของตน

การฝึกอบรมจำเป็นสำหรับพนักงาน

“ในระยะแรกพนักงานอาจเกิดการแอนตี้ AI เนื่องจากยังขาดความรู้” Lena Weirauch, CEO and Co-Founder ของ Ai-Omatic กล่าว ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะโน้มน้าวมนุษย์ในการใช้งาน AI พนักงานจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมและได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบ AI เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม Weirauch ยอมรับว่า AI ที่ใช้ในการผลิตทำให้เกิดคำถามโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติและผลกระทบต่องานต่าง ๆ

ในความเป็นจริงนั้น คนที่กลัว AI มาแย่งงานไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะงานหลายประเภทจะถูกทดแทนหรือลดจำนวนการใช้คนลงจริง ๆ ด้วยค่าแรงที่แพงขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาทั่วโลกมีอัตราการเกิดที่ต่ำลง การขาดแคลนแรงงานทักษะ สังคมผู้สูงอายุ การใช้แรงงานคนไม่สามารถรองรับหรือรักษาระดับของเศรษฐกิจที่กำลังมีอยู่ได้อีกต่อไป ในภาพใหญ่บริษัทต่าง ๆ ย่อมต้องพยายามลดการใช้คน ในขณะที่ AI จะเข้ามาทดแทนในหลาย ๆ งาน แต่ก็จะสร้างงานใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน โดยเป็นงานที่คนใช้ AI เสริมเป็นเครื่องมือ และสามารถรับปริมาณงานได้มากขึ้นต่อคน ๆ เดียว ทั้งโรงงานอาจควบคุมโดยพนักงานเพียงไม่กี่คน โดยการเฝ้าสังเกตการณ์ ในกรณีที่ยังมีการใช้คนก็จะใช้น้อยลง คน ๆ หนึ่งอาจควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติได้พร้อมกันหลาย ๆ เครื่อง เพราะไม่ใช่คนทุกคนที่ต้องการจะปรับตัวหรือแม้ว่าสามารถปรับตัวได้ การต่อต้าน AI ก็เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ และต้องใช้ศิลปะในการจัดการ แต่ถึงอย่างไรแนวทางการใช้ AI แทนมนุษย์ คือ  หนทางที่ต้องดำเนินต่อไป 

แรงงานที่มีทักษะจะกลายเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยในโรงงานหรือไม่ เมื่อความรู้ของพวกเขาถูกโอนถ่ายไปยังระบบ AI แล้ว? 

Denkena, Head of the Institute of Production Engineering and Machine Tools (IFW) ที่ Leibniz University Hannover พิจารณาปัญหาจากมุมมองที่แตกต่าง “แล้วก่อนที่จะมีการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่นั้นเทคโนโลยีใหม่ทำให้มนุษย์ล้าสมัยหรือไม่? เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่ามนุษย์จะมีบทบาทใหม่ในโรงงานอย่างไรก่อนที่จะมีเครื่องจักรที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์มาใช้ ในวันนี้เราเห็นคอมพิวเตอร์เป็นเหมือนเครื่องมือที่เราใช้และไม่ใช่คู่แข่ง ผมคิดว่าเราจะมาถึงจุดที่เห็น AI เป็นเครื่องมือเสริมในทำนองเดียวกันในอนาคต”

แรงงานทักษะจะมีงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

“พนักงานจะต้องมีทักษะด้านซอฟต์แวร์ และจะต้องมีความสามารถรอบด้าน” Denkena อธิบาย พนักงานที่ทำงานในโรงงานอัจฉริยะจำเป็นที่จะต้องมีทักษะใหม่ ๆ โดยที่ AI ถูกกำหนดให้เป็นตัวเพิ่มจำนวนเครื่องจักรและระดับของระบบอัตโนมัติ การเขียนโปรแกรมของแต่ละเครื่องจักรจะง่ายขึ้นมาก แต่พนักงานก็จะถูกคาดหวังให้จัดการกับเครื่องจักรจำนวนมากที่มีความแตกต่างกันได้

“บริษัทหลายแห่งยังคงไม่เต็มใจที่จะแบ่งปันข้อมูล” Denkena กล่าว  หากจะให้ AI ประสบความสำเร็จก็จะต้องเอาชนะการต่อต้านระดับหนึ่ง รวมถึงจากผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตด้วย แต่แทบไม่มีชุดข้อมูลการผลิตทางอุตสาหกรรมใด ๆ เลยบนแพลตฟอร์ม AI ขนาดใหญ่อย่าง Hugging Face 

“นอกจากนี้ ระดับของการสื่อสารตามมาตรฐานยังคงไม่เพียงพอสำหรับ Internet of Things (IoT) รวมถึงการลงทุนทางการเงินที่จำเป็นต่าง  ๆทำให้การเริ่มต้นใช้งาน AI สำหรับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางนั้นยากเป็นพิเศษ” Denkena กล่าวเสริม  

ในขณะเดียวกันก็เป็นที่ชัดเจนว่า AI นั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หากการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติอยู่ “ความท้าทายต่าง ๆ ที่อุตสาหกรรมเยอรมันและยุโรปกำลังเผชิญอยู่ ทำให้ AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการการผลิตและธุรกิจของเรา” Brecher กล่าว นอกจากนี้  AI จะเป็นปัจจัยชี้ขาดในการกำหนดความสามารถของบริษัทที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตของตน

พัฒนาการผลิตผ่านเครือข่ายดิจิทัล

ผู้จัดการของ Trumpf ให้ความเห็นว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับเอเชียแล้ว ผู้ผลิตโลหะแผ่นของเยอรมนีอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากอยู่แล้วในด้านการเปลี่ยนแปลงกระบวนการให้เป็นดิจิทัลและด้านระบบอัตโนมัติ” โดย Kunz เชื่อว่าพัฒนาการขั้นถัดไป คือ การบริการดิจิทัล “ตัวอย่างเช่น ขณะนี้มีเครื่องจักรประมาณ 5,000 เครื่องในสถานที่ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบ IT ของ Trumpf หากมีความผิดปกติใด ๆ เราจะทราบและติดต่อลูกค้าทันที” นอกจากนี้ Trumpf ยังเสนอการรีโมทโปรแกรมสำหรับเครื่องจักรให้กับลูกค้าของเขา หรือการแก้ไขจุดบกพร่องของเครื่องจักรในช่วงกะกลางคืน 

Trumpf จะจัดแสดงเครื่องจักรในงาน Nortec โดยมีเครื่องตัดและเครื่องเชื่อมด้วยเลเซอร์ และมุ่งเน้นไปที่การผลิตผ่านเครือข่ายดิจิทัล “โมเดลดังกล่าวมีความก้าวหน้าทางเทคนิคที่สูงอยู่แล้ว แต่อุตสาหกรรมเยอรมันก็ยังค่อนข้างระมัดระวังในการใช้งาน ส่วนสหรัฐอเมริกาจะมีการตอบสนองที่มากกว่า” Kunz กล่าวสรุป

การที่บริษัทต่าง ๆ ในเยอรมนีมีความระมัดระวังในการเลือกใช้เครื่องจักรผ่านเครือข่ายดิจิทัลที่เจ้าของเทคโนโลยีการผลิตอย่าง Trumpf สามารถเข้าถึงข้อมูลการผลิตได้แบบทะลุทะลวงนั้นเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ เพราะข้อมูลถือเป็นความลับทางธุรกิจ ส่วนนี้อาจเป็นประเด็นที่ทางบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตจะต้องให้ความมั่นใจกับผู้ซื้อเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการปกป้องข้อมูล การแก้ไขข้อกังวลใจที่เป็นอุปสรรคในการเลือกซื้อเลือกใช้เครื่องจักร

คุณผู้อ่านคงพอเห็นภาพว่า AI กำลังเข้ามามีบทบาทในการผลิตมากเพียงใด ในปัจจุบันการแข่งขันอยู่ในสเกลระดับโลก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเฝ้ามองเทรนด์อยู่เสมอ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้กับธุรกิจของท่าน

บทความอ้างอิง: https://www.etmm-online.com/

บทความที่น่าสนใจ

About The Author